“ห่วงคุมกำเนิด” คืออะไร

ยาโซแลม
ยาเสียสาวชื่อเก๋โก้ “ยาโซแลม”
December 11, 2022
โรคมะเร็ง
กินยังไง…ไกลมะเร็ง
December 14, 2022
คุมกำเนิด

 

 “ห่วงคุมกำเนิด” คืออะไร

 

การคุมกำเนิด คือการป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อม ไม่ตั้งใจ หรือมีความจำเป็นอื่นๆ ซึ่งการคุมกำเนิดนั้นมีหลายวิธี “ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device)” ก็เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการคุมกำเนิด โดยวิธีการใส่เข้าไปไว้ในโพรงมดลูก จัดเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวแบบหนึ่งที่มีระยะเวลาการคุมกำเนิดนานตามอายุของห่วงแต่ละชนิด

                   จากสถิติทั่วโลกพบว่า มีการใช้ห่วงคุมกำเนิดร้อยละ 23 ในสตรีที่มีการคุมกำเนิด โดยในทวีปเอเชียพบการใช้ประมาณร้อยละ 27

คุมกำเนิด

กลไกการทำงานของห่วงอนามัยในการคุมกำเนิด

                   กลไกการทำงานของห่วงอนามัยในการคุมกำเนิดนั้นมีหลายกระบวนการ โดยกระบวนการหลักได้แก่ การอักเสบภายในร่างกายแบบเรื้อรังของเยื่อบุโพรงมดลูกและท่อนำไข่ โดยอาจมีผลต่อตัวอสุจิ และยับยั้งการปฏิสนธิรวมถึงการฝังตัวของตัวอ่อนด้วย นอกจากนี้ยังมีกลไกการทำงานอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้จากห่วงอนามัย เช่น การเปลี่ยนแปลงมูกบริเวณปากมดลูกทำให้ยับยั้งการเดินทางของอสุจิ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของ Copper ที่เป็นส่วนประกอบของห่วง, การฝ่อตัวของต่อมในปากมดลูก, การบางตัวลงของเยื่อบุโพรงมดลูก รวมถึงผลต่อการทำลายไข่ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการต่างๆ นี้จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

ชนิดของห่วงอนามัย

ในปัจจุบันห่วงอนามัยมีหลายรูปแบบ ซึ่งห่วงอนามัยที่นิยมใช้ในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ห่วงอนามัยชนิดไม่มีสารเคมีประกอบ และห่วงอนามัยชนิดที่มีสารเคมีประกอบ

  1. ห่วงอนามัยชนิดที่ไม่มีสารเคมีประกอบ ได้แก่ ชนิด Lippes Loop มีลักษณะเป็นเส้นขดรูปตัวเอส มีใช้ในประเทศไทยมานานก่อนชนิดอื่น อายุการใช้งานนาน แต่ในปัจจุบันมีให้เห็นได้น้อย

  2. ห่วงอนามัยชนิดที่มีสารเคมีประกอบ แบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้แก่

2.1 ห่วงอนามัยเคลือบสารทองแดง ที่นิยมใช้ในปัจจุบันโดยทั่วไป ได้แก่ MultiloadCu375 อายุการใช้งาน 5 ปี, MultiloadCu250 อายุการใช้งาน 3 ปี, Copper T 380 A อายุการใช้งาน 10 ปี

2.2 ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน Levonorgestrel ชนิด Mirena อายุการใช้งาน 5 ปี,  Skyla อายุการใช้งาน 3 ปี

 

คุมกำเนิด

 

ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยห่วงคุมกำเนิด

–     ใช้งานง่าย

–     ระยะเวลาคุมกำเนิดได้นาน ตามอายุห่วง ไม่ต้องลืมทานหรือฉีดทุกเดือน

–     มีความปลอดภัยสูง ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่าร้อยละ 99 โอกาสการตั้งครรภ์น้อย ประมาณร้อยละ 0.1 – 0.6 ผลข้างเคียงน้อย โดยเฉพาะห่วงชนิดไม่มีฮอร์โมน ไม่เพิ่มความเสี่ยงของยากลุ่มฮอร์โมน โดยเฉพาะเรื่องโรคมะเร็งและภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

–     ไม่ขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์ (ต่างกับการใส่ถุงยางอนามัย)

–     หลังจากการถอดสามารถกลับมาสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้ทันที (ต่างกับยาฉีดที่ต้องรอเวลาหลายเดือนหลังการหยุดยา)

–     ข้อห้ามใช้มีน้อย โดยเฉพาะห่วงที่ไม่มีฮอร์โมน

–     นอกจากการคุมกำเนิดแล้ว กลุ่มห่วงที่มีฮอร์โมนยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่น รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

–     ประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ได้นานเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดโดยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฉีดยา

 

 

คุมกำเนิด

 

การเลือกใช้ห่วงอนามัย

ผู้ที่เหมาะต่อการเลือกใช้ห่วงอนามัย ได้แก่

  1. ต้องการจะคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง
  2. ต้องการจะคุมกำเนิดระยะยาว เช่น 3 ปี  5 ปี หรือนานกว่านั้น
  3. มีความต้องการที่จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อหยุดใช้ห่วงอนามัยในการคุมกำเนิด
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  5. ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดขณะให้นมบุตร หรือต้องการคุมกำเนิดโดยไม่ใช้ยาฮอร์โมน หรือมีข้อห้ามใช้ยาฮอร์โมน สามารถเลือกใช้ห่วงที่ไม่มีฮอร์โมนได้
  6. มีโรคทางนรีเวชอื่นๆ ที่ต้องใช้ห่วงอนามัยในการบำบัดรักษา
  7. มีความจำเป็นเลือกใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงเพื่อการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
  8. กังวลเรื่องการลืมทานยาคุมกำเนิด หรือลืมนัดฉีดยา

คุมกำเนิด

ข้อห้ามในการเลือกใช้ห่วงอนามัย

  1. มีความผิดปกติของมดลูก ส่งผลทำให้ไม่สามารถใส่ห่วงได้ อาทิ ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงมดลูก เช่น Bicornuate uterus, ปากมดลูกตีบ (cervical stenosis), ก้อนเนื้อของกล้ามเนื้อมดลูกที่ทำให้โพรงมดลูกผิดรูป
  2. กำลังมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease) สำหรับสตรีที่มีประวัติการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานแนะนำทำการรักษาจนหายขาดอย่างน้อย 3 เดือนจึงพิจารณาใส่ห่วงอนามัยได้ แต่สำหรับสตรีที่มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อบ่อยอาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหลังการใส่ห่วงอนามัย
  3. ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากการใส่ห่วงอนามัยเพิ่มโอกาสแท้ง และแท้งติดเชื้อ
  4. มีโรคหรือประวัติภาวะแพ้ทองแดง ในกรณีเลือกใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง
  5. เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
  6. อื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเต้านม หรือสตรีที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนก็ไม่แนะนำให้ใส่ห่วงชนิดที่มีฮอร์โมนประกอบ

 

คุมกำเนิด

ผลข้างเคียงของห่วงอนามัย

  1. การเลื่อนหลุดของห่วงอนามัย (Expulsion) โอกาสในการเลื่อนหลุดประมาณร้อยละ 3 – 10
  2. ตำแหน่งของห่วงอนามัยไม่เหมาะสม (malposition) พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใช้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำห่วงอนามัยออกทุกครั้งไป
  3. ไม่พบสายของห่วงอนามัย (Strings not visible) จากการคลำเองของผู้ป่วย หรือแพทย์ตรวจภายใน ซึ่งห่วงอาจอยู่ในตำแหน่งปกติหรือเคลื่อนที่ หรือหลุดหายก็ได้
  4. มดลูกทะลุ (Perforation) พบได้น้อยโดยโอกาสเกิดเหตุการณ์นี้ ระหว่างการใส่ห่วงอนามัย อยู่ที่ 1:1000 ราย
  5. คู่นอนรู้สึกถึงสายของห่วงอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  6. อาการปวดท้องน้อย หรือปวดประจำเดือนมากขึ้น
  7. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (Abnormal uterine bleeding) หรือประจำเดือนผิดปกติ
  8. ตกขาว ผู้ใส่ห่วงอนามัยมักพบอาการตกขาวมากขึ้นได้
  9. การติดเชื้อ ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease: PID) พบการติดเชื้อ Actinomyces จากการตรวจ PAP smear
  10. ตั้งครรภ์ และตั้งครรภ์นอกมดลูก
  11. ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนกรณีใส่ห่วงฮอร์โมน Levonorgestrel เช่น ภาวะขนดก ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น สิว อารมณ์ไม่ปกติ เจ็บคัดตึงเต้านม

 

Buy now