เสียงแหบอาจเป็นสัญญาณ “หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง”

ยาแก้ลืม
April 10, 2022
สู้มะเร็ง…
April 10, 2022

เสียงแหบเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย สาเหตุมักเกิดจากปัญหาของสายเสียงเช่นอักเสบ บวม ซึ่งอาจหายได้เองหรือใช้ยา แต่เสียงแหบอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยของโรคที่สำคัญอีกโรคหนึ่งคือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในทรวงอก การที่เราพูดมีเสียงเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อในกล่องเสียงที่ทำให้สายเสียงสองข้างขยับเข้ามาชิดกัน ถ้ากล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งไม่ทำงาน เมื่อเราพูดก็จะไม่มีเสียง หรือเสียงแหบ เส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อในกล่องเสียงเป็นแขนงมาจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 10 (vagus nerve) แขนงนี้มีชื่อเรียกว่า recurrent laryngeal nerve มีสองข้างคือซ้ายและขวา การแตกแขนงออกจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 10 จะแตกต่างกัน คือด้านขวาจะแตกแขนงบริเวณไหปลาร้าขวาแล้วอ้อมหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงแขนข้างขวา ส่วนเส้นซ้ายจะแตกแขนงในทรวงอกซ้ายบริเวณรอยต่อของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่สองและส่วนที่สามแล้วอ้อมหลอดเลือดแดงใหญ่เข้ามาด้านใน เมื่อมีความผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่เช่นการโป่งพองก็จะดันให้เส้นประสาทยืดออกและทำงานลดลงคนไข้ก็จะมีเสียงแหบ เมื่อไปพบแพทย์ทางหู คอ จมูกตรวจจะพบว่ามีอัมพาตของสายเสียงข้างซ้าย การตรวจวินิจฉัยต่อคือถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดก็จะพบว่าความผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แต่ในบางครั้งการโป่งพองอาจไม่เห็นได้ง่ายจากภาพเอกซเรย์ ถ้าแพทย์สงสัยก็ตรวจโดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็จะพบว่ามีการโป่งพองจริง และอาจบอกได้ว่าโป่งพองมากน้อยเพียงใดโดยวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือดแดงใหญ่ และยังบอกว่ามีพยาธิสภาพอย่างอื่นร่วมด้วยไหมเช่นโรคเลือดเซาะในผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ สาเหตุอื่นในทรวงอกก็อาจทำให้เส้นประสาท left recurrent laryngeal เป็นอัมพาตได้เช่นมะเร็งปอดที่ลุกลามมาที่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดซ้าย การมีก้อนเนื้อใกล้ๆกับหลอดเลือดแดงใหญ่เช่นเนื้องอกหรือมะเร็งของต่อมธัยมัส

 

วัณโรคของต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดอาจรัดเส้นประสาทนี้ได้ทำให้เกิดเสียงแหบเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยสูงอายุบางรายมีอาการเสียงแหบมา 1 เดือน มาพบแพทย์ตรวจพบว่ามีสายเสียงข้างซ้ายผิดปกติ มีการเคลื่อนไหวน้อยลง การตรวจทางหู คอ จมูก ปกติ ไม่พบต่อมน้ำเหลืองโตหรือก้อนที่บริเวณคอ แพทย์จึงส่งทำเอกซเรย์ปอด พบว่าเงาของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่สองต่อส่วนที่สามดูโตผิดปกติ และพบการกดต่อหลอดลมใหญ่ส่วนล่างและหลอดลมแขนงหลักซ้ายที่ไปเลี้ยงปอดข้างซ้าย แพทย์จึงทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่สองโป่งพองจริงโดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร และยังพบว่ามีการเซาะในผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่สาม และหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่ติดกับหัวใจมีขนาด 4.5 เซนติเมตรซึ่งถือว่าผิดปกติคือโป่งพองแล้ว การรักษามีความจำเป็นนอกจากการที่เสียงแหบเสี่ยงต่อการสำลักซึ่งอาจทำให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ อันตรายที่ซ่อนอยู่อีกคือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองอาจแตกทำให้เสียเลือดและเสียชีวิต เช่นเดียวกันการที่เลือดเซาะในหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่สามก็อาจโป่งพอง แตก และยังอาจทำให้เกิดอาการขาดเลือดของตับ ไต ลำไส้ และขาทั้งสองข้างได้ และหลอดเลือดใหญ่ส่วนแรกที่ติดกับหัวใจก็อาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว เกิดภาวะหัวใจวาย และอาจเกิดการเซาะของเลือดเข้าไปในผนังซึ่งอาจทำให้คนไข้เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะการเซาะไปอุดหลอดเลือดแดงหัวใจ หรือการเซาะไปอุดหลอดเลือดแดงสมองเกิดอัมพาตได้ และหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่หนึ่งอาจแตกมีเลือดออกในถุงเยื่อบุหัวใจ เลือดจะกดหัวใจจนไม่ทำงานทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าจะทำให้คนไข้คนนี้ปลอดภัยก็ต้องจัดการกับหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกทั้งสามส่วนซึ่งเป็นงานที่ยากและเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก

แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันเราสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดโดยการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวโดยอาศัยการผ่าตัดแบบเปิดร่วมกับการรักษาด้วยขดลวดหุ้มหลอดเลือดเทียม ซึ่งวิธีการผ่าตัดดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ห้องผ่าตัดที่สามารถใช้การผ่าตัดแบบเปิดและการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์ฉีดสีไปพร้อมกัน ห้องผ่าดังกล่าวนี้เรียกว่า Hybrid operating room

คนไข้ดังกล่าวก่อนผ่าตัดได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจด้วยพบว่าปกติ การผ่าตัดเพื่อปรับปรุงแก้ไขหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในทรวงอก อันมีผลทำให้กดเส้นประสาทที่ทำให้เสียงแหบกดหลอดลม และเพื่อป้องกันการก้าวหน้าของหลอดเลือดโป่งพองอันจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้นั้น จะต้องทำผ่าตัดโดยใช้การดมยาสลบร่วมกับการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมในห้องและโต๊ะผ่าตัดพิเศษที่เรียกว่า Hybrid Operating Room การผ่าตัดชนิดนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

ในการผ่าตัดสามารถสอดใส่ขดลวดหุ้มหลอดเลือดเทียม ปกป้องในส่วนเส้นเลือดใหญ่โป่งพองได้สำเร็จเรียบร้อย หลังผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตื่นขึ้นตามปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสมองหรืออวัยวะอื่นใด ไตทำงานปกติ ปัสสาวะออกดีตลอดเวลาที่ทำผ่าตัดและหลังผ่าตัด วันรุ่งขึ้นพูดได้ปกติ เสียงแหบลดลงชัดเจน กลืนอาหารได้ ไม่มีสำลัก อาการไอและเหนื่อยจากหลอดลม เคยถูกกดหายไปหมด สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ

ในกรณีนี้คนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในทรวงอกอาจมาด้วยอาการเสียงแหบ หมอทางหูคอจมูกตรวจพบว่าเป็นอัมพาตของสายเสียงข้างซ้าย การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์วินิจฉัยว่ามีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง มีขนาดใหญ่ อาจแตกทำให้เสียชีวิตได้ อาการเสียงแหบก็เกิดจากเส้นประสาทถูกหลอดเลือดแดงใหญ่กด การรักษาอาจใช้การผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งมีแผลยาว ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ต้องลดอุณหภูมิสมองลงมาเหลือ 18 องศาเซลเซียส แล้วหยุดเลือดไปเลี้ยงสมองเพื่อตัดหลอดเลือดแดงที่โป่งพองและใช้หลอดเลือดเทียมเย็บแทนที่ การผ่าตัดอาจตัดถูกเส้นประสาทเลี้ยงสายเสียงทำให้อาการเสียงแหบไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด และยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตหลังผ่าตัดเพราะขณะผ่าตัดลิ่มเลือดอาจหลุดไปอุดหลอดเลือดแดงสมอง การผ่าตัดก่อให้เกิดอาการปวดแผล ไอแล้วเจ็บแผล คนไข้จะเบื่ออาหารและฟื้นตัวช้า อาจใช้เวลา 2 เดือนที่จะฟื้นจากการผ่าตัด แต่วิธีการใหม่โดยใช้ขดลวดหลอดเลือดเทียม จะเลี่ยงการเปิดแผลผ่าตัดหน้าอก ไม่ใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ไม่ต้องหยุดเลือดไปเลี้ยงสมองจึงเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตน้อยกว่า และยังฟื้นตัวได้เร็วกว่า ไม่มีการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทเลี้ยงสายเสียง จะพูดเสียงดังกว่าก่อนผ่าตัด อาการสำลักจะลดลงและหายไป วิธีการนี้เป็นวิธีที่มีประโยชน์มากโดยเฉพาะคนไข้สูงวัย เป็นโรคถุงลมโป่งพอง

 

Buy now