ยาแก้ลืม

“ยาคุมฉุกเฉิน”  ใช้ยังไงให้ปลอดภัย
April 10, 2022
เสียงแหบอาจเป็นสัญญาณ “หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง”
April 10, 2022

ภาวะการลืมเป็นภาวะหนึ่งที่มักจะพบได้ในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปพบว่า ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาด้านความจำ อาจเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว กระทบหรือไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

การที่คนเรามีภาวะหลงลืมเล็กๆน้อยๆ เช่น ลืมชื่อเพื่อนที่เคยรู้จักกัน ลืมโทรศัพท์มือถือ ลืมของ ลืมตำแหน่งที่จอดรถ ฯลฯ  อาการหลงลืมเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ยังไม่จัดเป็นภาวะสมองเสื่อม ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ และสามารถแก้ไขได้ ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตในประจำวัน แตกต่างจากอาการที่พบในผู้สูงอายุ นั่นคือ “ภาวะสมองเสื่อม”

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือกลุ่มอาการต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากระบบการทำงานของสมองที่ค่อยๆ เสื่อมลงหลายๆด้าน ไม่ใช่แค่ความบกพร่องในด้านความทรงจำเท่านั้น แต่จะมีปัญหาด้านอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การใช้ความคิด การตัดสินใจ ความเข้าใจสิ่งต่างๆ การเรียนรู้สิ่งใหม่ การใช้ภาษา พฤติกรรม บุคลิกภาพ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ เป็นต้น เริ่มต้นจากการสูญเสียหรือมีความบกพร่องในด้านความทรงจำ ซึ่งเป็นอาการที่เด่น ที่คนรอบข้างจะสังเกตได้ เช่น ออกจากบ้านแล้วลืมทางกลับบ้าน ลืมบทสนทนาที่เพิ่งคุยกันผ่านไป ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น จำชื่อญาติ หรือเพื่อน ไม่ได้ มีปัญหาด้านการตัดสินใจ การแก้ปัญหา หรือการวางแผน เช่น เห็นน้ำเดือดอยู่บนเตา แต่ไม่สามารถจะตัดสินใจได้ว่าต้องทำอย่างไร มีปัญหาในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ปกติเคยใช้ได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ มีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่โกนหนวด มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการมึนงง หรือประสาทหลอน บางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว ซึมเศร้า หวาดระแวง วิตกกังวล มีปัญหาด้านการสื่อสาร การใช้คำพูด

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า อัลไซเมอร์ คือ ภาวะสมองเสื่อม แต่ความจริงแล้ว อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยพบว่า เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มักจะเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อาการของอัลไซเมอร์ คือ ภาวะหลงลืม โดยมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ เริ่มจากอาการหลงลืมเล็กๆน้อยๆไม่รุนแรง เช่น ลืมบทสนทนาที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมชื่อหรือสถานที่ ทำอะไรซ้ำๆเดิม ถามคำถามซ้ำๆเดิม ไปจนถึงอาการขั้นรุนแรง เช่น ความสามารถในการตัดสินใจต่ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สูญเสียความสามารถในการสื่อสารหรือการพูดลง จนไม่สามารถสื่อสารได้ เป็นต้น

สมองเสื่อมอาจมาจากอาการทางประสาท ที่มีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย หรือมาจากโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะมีปัญหาในด้านการเคลื่อนไหว และการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง อาการสมองเสื่อมที่มาจากสาเหตุดังกล่าวนี้ มักไม่สามารถรักษาให้อาการกลับคืนเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมบางอย่าง สามารถรักษาให้อาการหายกลับคืนเป็นปกติได้ เช่น ได้รับสารพิษจำพวกโลหะหนัก เนื้องอกในสมอง ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เป็นต้น

การรักษาอาการสมองเสื่อม

การรักษาโดยการไม่ใช้ยา ในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อาจต้องอาศัยหลักจิตวิทยาควบคู่ไปกับการใช้ยา เช่น จัดหาผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่มีสุขภาพจิตดี มีความอดทนสูง เป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีได้ ไม่หงุดหงิด หากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ และคอยช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจกรรมนั้นๆอย่างเป็นลำดับ

การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาอาการสมองเสื่อม ได้แก่

  1. ยาในกลุ่ม Cholinesterase Inhibitor เช่น Donepezil , Rivastigmine, Galantamine โดยยาจะออกฤทธิ์ที่สมอง โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ทำลายสารสื่อประสาท ส่งผลให้การรับรู้ที่เกี่ยวกับความทรงจำและการตัดสินใจดีขึ้น
  2. ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (NMDA/N-methyl-D-aspartate receptorantagonist) ที่เยื่อหุ้มเซลล์ เช่น Memantine โดยยาจะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า Glutamate ทำให้ชะลอการตายของเซลล์สมอง ส่งผลให้มีการชะลอความเสื่อมของสมองไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการใช้ยาอาจได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย แต่ในบางรายอาจได้ผลน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และหากใช้ยาควรระวังผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง

 

 

 

Buy now