นอนดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข

เลเซอร์ริดสีดวง….ตัวช่วยไม่ต้องทนเจ็บ
February 14, 2022
เส้นเลือดโป่งพองใต้จอตา…เสี่ยงตาบอด
February 14, 2022

8 ชั่วโมง ไม่ใช่ตัวเลขมาตรฐานสำหรับการนอนที่เพียงพอเสมอไป จำนวนหรือความต้องการนอนให้เพียงพอจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและตามอายุ เช่น เด็กอายุ 5 – 10 ขวบ ต้องการนอนประมาณ 10 ชั่วโมง ในวัยรุ่นต้องการนอนประมาณ 9 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่ความต้องการนอนอยู่ที่ 7.5 – 9 ชั่วโมง และยังมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ต้องการนอนน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ถึงจะเพียงพอ

การจะรู้ว่านอนเท่าไรถึงจะเพียงพอในแต่ละคนซึ่งอาจไม่ใช่ 8 ชั่วโมง ให้ดูจากการตื่นนอนขึ้นมา แล้วรู้สึกว่าได้พักผ่อน รู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงหลับกลางวัน และทำงานได้มีประสิทธิภาพดี

เหตุผลที่การนอนมีความสำคัญต่อสุขภาพ

  1. การนอนไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่า คนเราต้องการการนอนเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจให้พร้อมกับการเริ่มวันใหม่ นอกจากนั้นสมองก็จะเรียบเรียงประสบการณ์ที่ผ่านมา และจัดเก็บเป็นความจำ เกิดเป็นการเรียนรู้ใหม่ๆ คนที่อดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ความสามารถในการทำงานหรือเรียนหนังสือลดลง ความจำและสมาธิลดลง การตัดสินใจ และการตื่นตัวลดลง มีความง่วงนอนมากขึ้นจนถึงหลับใน อารมณ์เสียง่าย ถ้าอดนอนนานๆ อาจทำให้เกิดประสาทหลอนได้ จากการทดลองพบว่าหนูที่อดนอนนานๆ จะสูญเสียเซลล์สมองไปเกือบ 1 ใน 4 ซึ่งถ้าเกิดในมนุษย์ อาจส่งผลเสียต่อสมองอย่างถาวร
  2. ผลของการอดนอนนำไปสู่อุบัติเหตุต่างๆ ที่รุนแรงจนถึงมีการเสียชีวิตได้ทั้งทางรถยนต์ การทำงานกับเครื่องจักรกล ภัยพิบัติที่ร้ายแรงระดับโลกที่เกิดจากการที่พนักงานขาดการนอนหลับที่เพียงพอ เช่น เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันแอกซอนวอลเดซ (Exxon Valdez) ชนหินโสโครกทำให้น้ำมันรั่วบริเวณชายฝั่งอลาสกา มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว การเกิดระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,000 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน และโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ระเบิดทำให้ลูกเรือในภารกิจนี้ทั้ง 7 คนเสียชีวิต
  3. การนอนหลับไม่เพียงพอหรืออดนอน ทำให้ความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบตันหรือแตก
  4. การนอนหลับพักผ่อนที่ดีช่วยลดระดับความเครียด แต่การนอนไม่เพียงพอทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละวันลดน้อยลง และทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้น ทำให้ฮอร์โมนความเครียดพวก Cortisol และ Adrenaline สูงขึ้น และฮอร์โมนเหล่านี้กลับส่งผลทำให้นอนไม่หลับเพิ่มขึ้นอีกเป็นวงจร
  5. การนอนน้อยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune system) ต่ำลง และขบวนการตอบสนองคอยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่เป็นอันตรายคุกคาม (Inflammation process) เช่น การต่อสู้กับเชื้อโรค และอนุมูลอิสระของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เจ็บป่วยง่าย และอาจทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมหรือชราเร็วขึ้น
  6. การนอนหลับที่เพียงพอทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ดี คนที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง พบว่าจะมีผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความหิวความอิ่ม และอินซูลิน ทำให้กินมากขึ้น
  7. คนที่มีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล โรคปวดแบบ fibromyalgia และโรคข้อรูมาตอยด์ มากกว่าคนที่ไม่มีปัญหาการนอนประมาณสองเท่า

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการนอน ทั้งจากสภาพร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บที่มารบกวนการนอน แต่ในคนทำงาน วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา มักไม่ให้ความสำคัญกับการนอนที่เพียงพอ หรือตั้งใจที่จะอดนอน เนื่องจากมีกิจกรรมหรืองานที่ต้องทำช่วงกลางคืนมากเกินไป การอดนอนในแต่ละคืน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “หนี้การนอน (Sleep debt)” ที่จะสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ และต้องชดใช้ ร่างกายจะพยายามชดใช้การนอนที่ขาดไปโดยแสดงออกในเรื่องของความง่วงในตอนกลางวัน การงีบหลับเมื่อมีโอกาส และการหลับใน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและผลเสียร้ายแรงต่างๆ ตามมาได้ ดังนั้นต้องเรียนรู้ที่จะนอนให้เพียงพอ เพราะ “นอนดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข”

 

 

Buy now