วัคซีนไอกรน จำเป็นแค่ไหน?

January 12, 2022
 เสี่ยงรับสารพิษ “โลหะหนัก” แค่ไหน
January 15, 2022

หากพูดถึงการป้องกันโรค วิธีการที่ดีที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็คือการ “ฉีดวัคซีน” ซึ่งถือเป็นการสร้างเกราะป้องกันก่อนที่โรคจะมาเยือน โดยเฉพาะในวัยเด็กที่จะต้องได้รับวัคซีนจำเป็นหรือวัคซีนพื้นฐานตามโปรแกรมที่มีการกำหนดไว้ เช่นเดียวกับ “วัคซีนไอกรน”

“วัคซีนไอกรน” เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่เด็กๆ ทุกคนจะต้องได้รับ โดยเป็นการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine) รวม 5 เข็ม โดยในเข็มแรกจะฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4 – 6 ปี หลังจากนั้นควรได้รับการฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี แต่จากการเฝ้าติดตามโรคมาเป็นเวลาหลายทศวรรษกลับพบว่า วัคซีนที่มีใช้กันตั้งแต่ยุคแรกของการผลิตวัคซีนนั้น มีความสามารถในการป้องกันโรคที่ลดลงในวัยผู้ใหญ่ นักวิจัยจึงได้มีการพัฒนาวัคซีนชนิดนี้กันมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตแบบครบวงจรสำหรับวัคซีนไอกรน

ก่อนอื่น เราไปทำความรู้จักกับ โรคไอกรน กันก่อน

โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (Bordeltella pertussis)ในระบบหายในส่วนบน คือ บริเวณจมูก คอ และท่อลม ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะไปทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยหลังจากหยุดไอผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเข้าแล้วมีเสียง “วู๊ป” หรืออาจมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกัน 2 – 3 เดือน มักพบว่ามีอาการรุนแรงในเด็กเล็ก และในบางรายอาการไอดังกล่าวอาจทำให้หยุดหายใจ หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่นโรคปอดบวม และหูนํ้าหนวกได้

โรคไอกรน เป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย พบได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดที่มีอายุเพียง 1 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากมารดาผ่านไปยังทารกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในวัยหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน แต่ในเด็กเล็กมักมีอาการรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

วัคซีนป้องกันโรคไอกรนนี้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นแรกที่มีการคิดค้นวัคซีนชนิดนี้ขึ้นมา โดยการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไอกรนมาทำให้อ่อนแรงลง แล้วจึงทำการฉีดเข้าสู่ร่างกายคนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้น แต่พบว่ามีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก นักวิทยาศาสตร์จึงได้พัฒนาโดยการนำแอนติเจนบริเวณผนังเซลล์ของเชื้อมาใช้ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่ามีการต้านทานโรคได้ดีและมีผลข้างเคียงน้อยลงเมื่อเทียบกับวัคซีนในรุ่นแรก ซึ่งสามารถใช้ได้ดีในเด็กเล็กแต่วัคซีนชนิดนี้มีราคาสูง และยังคงสามารถพบการระบาดของโรคเกิดขึ้นจากผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันไปแล้วได้ เนื่องจากการประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้พบการแพร่เชื้อจากผู้ใหญ่ไปสู่วัยเด็กเล็กเป็นจำนวนมาก

จึงมีการคิดค้นกล้าเชื้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เพิ่มขึ้นและอยู่ได้นานยิ่งขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่เรียกว่า Recombinant Protein Technology ในการตัดต่อยีนส์ของเชื้อไอกรนเพื่อลดการสร้างสารพิษ ตลอดจนพัฒนาฐานการผลิตตั้งแต่ต้นจนกระทั่งการบรรจุแบบครบวงจรได้ สามารถตอบโจทย์การป้องกันโรคได้อย่างแท้จริง โดยวัคซีนที่ผลิตขึ้นได้จากงานวิจัยนี้มี 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  1. 1. วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดฉีดในเด็กโตและผู้ใหญ่
  2. 2. วัคซีนรวมป้องกันโรคไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก ซึ่งได้ความร่วมมือในการนำกล้าเชื้อโรคคอตีบ และบาดทะยักมาจากต่างประเทศ

วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ที่ผลิตขึ้นนี้เหมาะสมกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กเล็ก เช่น คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด รวมไปถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการเป็นพาหะของโรคไปสู่เด็กเล็ก นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคให้สูงขึ้นได้มากในระยะเวลา 1 ปี และยังไม่พบว่ามีการลดลงของภูมิต้านทานแต่อย่างทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าวไปได้อีกนาน นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็กเล็กก็สามารถฉีดป้องกันได้เช่นเดียวกัน โดยฉีดเพียง 1 เข็มเท่านั้น

 

Buy now