เมื่อ “ไอ” เลือกใช้ยาอย่างไรให้เหมาะ?

เตือนภัย “สารหนูและสเตียรอยด์” ยาออนไลน์ที่ควรระวัง!!
September 29, 2022
โรงพยาบาลต้นแบบ ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อผู้ใช้บริการสุขภาพดี
September 29, 2022

เมื่อ “ไอ” เลือกใช้ยาอย่างไรให้เหมาะ?

“ไอ” เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ เพื่อกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ และเป็นเส้นทางที่สำคัญในการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจ การไอจึงไม่ใช่โรคแต่เป็นเพียงอาการของโรคเท่านั้น เราจึงต้องพยายามหาสาเหตุว่าอาการไอเกิดจากอะไร เพื่อจะได้รักษาต้นเหตุอย่างถูกต้อง
อาการไอ เริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ หรือมีสารระคายเคืองในทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม และเกิดอาการไอ โดยประเภทของอาการไอ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไอไม่มีเสมหะ หรือไอแห้ง และไอมีเสมหะ โดยข้อสังเกต ผู้ที่ไอมีเสมหะ มีลักษณะดังต่อไปนี้
ไอแบบแน่นหน้าอก หรือหายใจไม่เต็มที่ ไอมาก ในขณะที่ยังตื่นอยู่ หรือขณะใช้เสียงมาก พูดมาก อาการไอมีเสมหะ อาจเป็นอาการที่ต่อเนื่องจากอาการเจ็บคอ แน่นจมูก น้ำมูกไหลลงคอ และไซนัส ฉะนั้น เมื่อเกิดอาการไอ ควรเลือกชนิดของยาให้ถูกต้องกับอาการไอ


ยาบรรเทาอาการไอ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. ยาระงับอาการไอ หรือกดอาการไอ (Cough suppressants or Antitussives) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้กลไกตอบสนองของร่างกายต่ออาการไอลดลง ช่วยบรรเทาอาการไอ ยากลุ่มนี้ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอจากการแพ้ หรือไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ และอาการไอแห้งที่รบกวนการนอนหลับ
2. ยาแก้แพ้ (Antihistamines) ใช้รักษาอาการไอที่มาจากอาการแพ้ อาการไอแห้งที่เกิดร่วมกับอาการคัดจมูก และจาม อาการไอที่มีสาเหตุมาจากน้ำมูกไหลลงคอ และลดการกระตุ้นหรือออกฤทธิ์ที่จุดรับสัญญาณการไอที่ประสาทส่วนปลาย

3. ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) ยาขยายหลอดลมจะทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว ใช้เฉพาะไอจากหลอดลมหด หรือภาวะหายใจลำบาก ไม่เหมาะกับอาการไอโดยทั่วไป
4. ยาขับเสมหะ (Expectorants) เป็นยาที่จำกัดเสมหะหรือเมือกจากทางเดินหายใจส่วนล่าง กลไกการออกฤทธิ์จะกระตุ้นการหลั่งน้ำเมือกในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสมหะใสมากขึ้น กระตุ้นการขับออก (Vagal gastric reflex stimulation)
5. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) จะออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ และชีวภาพของสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง
ยาบรรเทาอาการไอทั้ง 5 กลุ่มข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่แนะนำให้ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยาเหล่านี้ในเด็กเล็ก สำหรับเด็กที่มีอายุ 2 – 11 ปี ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกใช้ยาอย่างถูกต้อง” จากข้อความนี้ ส่งผลให้เกิดคำถามว่า หากเด็กเล็กเกิดอาการไอ จะใช้ยาอะไร เรื่องนี้สถาบันทางการแพทย์ Mayo Clinic มีคำแนะนำว่าให้ดื่มน้ำอุ่น หรือเครื่องดื่มผสมน้ำผึ้งและมะนาว เพื่อบรรเทาอาการไอ ซึ่งน้ำผึ้งจะเคลือบลำคอ ลดอาการระคายคอ ส่วนน้ำอุ่นและมะนาวจะช่วยละลายเสมหะ อีกทั้งการจิบน้ำอุ่นบ่อยๆเพียงอย่างเดียวก็ช่วยละลายเสมหะและบรรเทาการไอได้
การบรรเทาและรักษาอาการไอ การปฏิบัติตนขณะมีอาการไอให้หายเร็วขึ้น คือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น มลพิษทางอากาศ สารก่ออาการระคายเคืองต่างๆ และใช้ยาบรรเทาอาการไอเท่าที่จำเป็น สิ่งสำคัญ คือ ถ้าอาการไอเกิดร่วมกับ ไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ แสดงว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม และหากมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ต้องรีบไปพบแพทย์ หรือหลังจากรับประทานยาแก้ไอแล้ว 2 สัปดาห์ อาการไอยังไม่บรรเทาลง ต้องไปพบแพทย์เพื่อหาต้นเหตุ หรือความผิดปกติที่อาจแอบแฝงอยู่

Buy now