โรคหลอดเลือดสมองหรือ ภาวะจ้งเฟิง (中风) ในมุมมองแพทย์แผนจีน

ต้องระวัง!….เครื่องสำอางปลอม
May 3, 2022
ออกกำลังกายสมอง…ชะลอแก่
May 3, 2022

โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือโรคลมปัจจุบัน คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ป่วย

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

  1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke脑血栓) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% เกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง

ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง บางรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร

  1. หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด (hemorrhagic stroke脑溢血) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยง

ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด

เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2 – 3 เท่า

ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด เกิดการตีบตันกีดขวางการลำเลียงเลือด

โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง

การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%

ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง

แพทย์แผนจีนแบ่งภาวะจ้งเฟิง เป็น 4 ประเภท ตามระบบความรุนแรง

  1. จ้งลั่ว (中络) กระทบเส้นลมปราณแขนง ได้แก่อัมพาตใบหน้า ทำให้ปากเบี้ยว ตาเบี้ยว สาเหตุเกิดจากพลังลมปราณกระเพาะอาหารได้รับการการกระทบอย่างรุนแรง โรคนี้รักษาไม่ยาก (เทียบเท่ากับ Bell’s palsy)
  2. จ้งจิง (中经) กระทบระบบเส้นลมปราณหลัก มีอาการที่รุนแรงขึ้นแต่ไม่ถึงกับหมดสติ เป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก แขนขาชา อ่อนแรง น้ำลายไหล พูดไม่ชัด โรคนี้รักษาเร็วมีโอกาสฟื้นกลับคืนได้มาก (เทียบเท่ากับหลอดสมองตีบหรืออุดตัน)
  3. จ้งฝู่ (中腑) กระทบอวัยวะกลวง มีความรุนแรงถึงขั้นหมดสติเฉียบพลัน หลังจากฟื้นขึ้นมามีอัมพาตครึ่งซีก แขนขาชา อ่อนแรง น้ำลายไหล พูดไม่ชัด ไม่สามารถควบคุมอุจจาระและปัสสาวะได้ (เทียบเท่ากับหลอดสมองแตกหรือฉีกขาด)
  4. จ้งจั้ง (中脏) กระทบอวัยวะตัน มีความรุนแรงที่สุดถึงขั้นหมดสติเฉียบพลัน อาจถึงกับเสียชีวิต ร่วมกับอาการอัมพาตครึ่งซีก แขนขาชา อ่อนแรง น้ำลายไหล พูดไม่ชัด (เทียบเท่ากับหลอดสมองแตกหรือฉีกขาด) ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบกลุ่มอาการปิดหรือตึงเกร็ง (闭症) กับกลุ่มอาการอ่อนเปลี้ย (脱症)

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภัยเงียบที่สามารถคร่าชีวิตคนเราได้ในทุกเพศ ทุกวัย จะแสดงอาการต่างๆ เช่น ปวดหัวบ่อย มึนหัว วูบ เวียนหัว บ้านหมุน มือเท้าชา แขนขาอ่อนแรง เป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้ป่วยบางคนไม่รู้ตัวมาก่อนเลยเสี่ยงต่ออัมพาตและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

 

 

Buy now