ออกกำลังกายสมอง…ชะลอแก่

โรคหลอดเลือดสมองหรือ ภาวะจ้งเฟิง (中风) ในมุมมองแพทย์แผนจีน
May 3, 2022
“DENGVAXIA” วัคซีนไข้เลือดออก
June 6, 2022

ความเสื่อมถอยของสมองนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเสมอไป เพราะการหลงลืมในวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ก็มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เช่น บางคนพยายามหาแว่นตา ทั้งๆ ที่นำไปคาดไว้บนศีรษะ หรือการลืมสิ่งของที่เพิ่งใช้งานไปเมื่อสักครู่ นี่เป็นเพียงการลืมในช่วงสั้นเท่านั้น แต่หากปล่อยไว้โดยไม่คิดว่าเป็นปัญหา หรือไม่ยับยั้งสาเหตุและชะลอโรค ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่มีกิจกรรมบริหารสมอง ก็อาจทำให้สมองของคุณเสี่ยงต่อการเสื่อมก่อนวัยอันควรได้

หากจะกล่าวถึงส่วนประกอบและกลไกการทำงานของสมองอย่างละเอียด คงทำเอาคุณผู้อ่านปวดหัวอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ขออธิบายหน้าที่ของสมอง  ดังนี้

“สมองมีหน้าที่หลักอย่างแรก คือสั่งการไปยังร่างกายให้มีการเคลื่อนไหว เช่น ให้มีการขยับแขนขา กลอกตา กลืน ยิ้ม ฯลฯ หลังจากนั้นร่างกายจะส่งความรู้สึกกลับไปยังสมอง ขณะเดียวกันสมองจะทำหน้าที่ๆ สอง คือการรับความรู้สึก และสั่งการกลับไปยังร่างกายอีกครั้ง เช่น สมองสั่งให้เราเดินตรงไป เมื่อขาเดินไปเหยียบไฟก็จะส่งความรู้สึกบอกไปยังสมองว่ามันร้อน สมองจะสั่งกลับมาอีกครั้งว่า ให้เขยิบขาหนี และยังมีสมองอีกส่วนทำหน้าที่รับสัมผัสกับสิ่งเร้าที่เข้ามาในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก เพื่อให้สมองประมวลผล ก่อนที่จะสั่งลงมายังร่างกายอีกครั้งว่าให้ร้องไห้ ยิ้ม หรือหัวเราะ ตามแต่ประสบการณ์ที่เคยผ่านมาที่สมองสะสมความจำไว้ นอกจากนี้สมองยังทํางานที่ซับซ้อนในด้านอื่นๆ เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบความจํา เป็นต้น”

กลไกการทำงานของสมองเป็นเรื่องมหัศจรรย์และดูซับซ้อน เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อร่างกาย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์บัญชาการของร่างกายเลยก็ว่าได้ แต่ศูนย์บัญชาการนี้ก็กลับเสื่อมถอยตามอายุได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่จะไปสนับสนุนการเสื่อมของสมองด้วย ไม่ว่าจะเป็นความดัน ไขมัน เบาหวาน พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ก็จะไปเร่งให้เส้นเลือดในสมองตีบ สมองฝ่อ หรือการที่มีคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์ ตั้งแต่อายุยังน้อยเราเองอาจได้รับสารพันธุกรรมนั้น

นอกจากที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเร่งให้สมองเสื่อมก่อนวัยอันควร ได้แก่ ผู้ที่เกษียณจากงาน และไม่ได้ทำกิจกรรมที่บริหารสมอง โดยใช้รูปแบบชีวิตเดิมๆ ตื่นนอนตอนเช้า รับประทานอาหาร นอนกลางวัน ตื่นขึ้นมานั่งอยู่เฉยๆ กินข้าว เป็นเช่นนี้ประจำสม่ำเสมอ หรือแม้แต่กระทั่งโรคหลงๆ ลืมๆ จนนำไปสู่การเป็นอัลไซเมอร์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ขณะที่มีงานวิจัยว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จะส่งผลให้สมองที่ดูแลเรื่องความจำระยะสั้นค่อยๆ เสื่อมกว่าในคนปกติ หรือการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ก็ส่งผลให้สมองเสื่อมได้เร็วขึ้นด้วย

 

จะสังเกตตัวเองได้อย่างไร?

ขอ แนะนำว่าเราเองสามารถสังเกตตัวเองได้ โดยใช้ความสามารถของตัวเองเป็นหลัก ว่าเรามีความจําที่แย่ลงเทียบกับความสามารถเดิมของเราหรือไม่ อีกทางหนึ่งคือให้คนรอบข้างที่ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับเราคอยตรวจสอบ

พฤติกรรมการหลงลืมที่สังเกตได้ เช่น ลืมตารางนัดหมาย ลืมปิดน้ำ ลืมว่ากำลังจะไปรับประทานอาหาร ซึ่งนี่เป็นเพียงความจำระยะสั้น แต่อาการเสื่อมของสมองยังรวมไปถึงเรื่องของภาษา นึกคำไม่ออก เรียงประโยคผิด ใช้กริยานำหน้าประธาน หรือแม้กระทั่งการหลงทาง ที่จะเห็นได้บ่อยว่ามีการประกาศหาคนหายตามสื่อต่างๆ บางรายสมองส่วนที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ใช้งานแย่ลง ก่อนเคยคิดงานได้ แต่กลับคิดไม่ออก วางแผนไม่ได้ หรือแม้กระทั่งอารมณ์เปลี่ยนแปลง ก็เป็นอาการของสมองเสื่อม จากเดิมเป็นคนใจเย็นกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือการเห็นภาพหลอน แท้จริงบางครั้งอาจไม่ใช่อาการทางจิตเวช แต่เป็นอาการแสดงของโรคสมองเสื่อม

การตรวจหาสาเหตุ

สิ่งแรกที่แพทย์จะตรวจคือ ผู้ป่วยมาด้วยภาวะทางจิตเวชหรือไหม เช่น ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ต้องใช้ยานอนหลับ ใช้ยาลดน้ำมูก แพทย์จะให้กลับไปแก้ในส่วนนี้ ก่อนที่จะมาประเมินใหม่ หากมีการตรวจใหม่แล้วพบว่ามีความจำที่แย่ลงจริง แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุว่าจะทำการรักษาได้หรือไม่ เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ, วิตามิน B12 ต่ำ ส่วนมากมักเป็นกับผู้ที่รับประทานมังสวิรัต หรือการติดเชื้อบางอย่าง เช่น ซิฟิลิส HIV หากทำการเจาะเลือดแล้วเจอสาเหตุข้างต้นในช่วงแรก อาจจะช่วยรักษาให้ความจำกลับมาดีขึ้นได้

นอกจากการตรวจเลือดแล้ว จะทำการเอกเรย์สมอง เพื่อดูว่าเส้นเลือดสมองตีบหรือไม่ มีก้อน หรือมีน้ำในโพรงสมองมากผิดปกติหรือไม่ และยังต้องทำการตรวจอย่างละเอียดว่าเนื้อสมองส่วนใดที่ฝ่อ ซึ่งโรคสมองเสื่อมแต่ละชนิดจะมีบริเวณสมองที่ฝ่อแตกต่างกัน สามารถช่วยในการแยกโรคในเบื้องต้นได้ ถ้าทําการเอกซเรย์แล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้แน่ชัด อาจมีการส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางพันธุกรรม การเจาะนํ้าไขสันหลัง และการเอกซเรย์พิเศษ หรือการตรวจ MRI เป็นต้น

บริหารสมองอย่างไร?

สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการรักษาสมองให้ใช้งานได้ดีตามวัยคือ สิ่งแรกต้องออกกำลังร่างกายก่อน ซึ่งถือเป็นการบริหารสมองไปในตัว เพราะขณะที่เราออกกำลังกาย สมองจะหลั่งสารสื่อประสาท เป็นการบริหารสมองไปในขณะเดียวกัน

การบวกเลข ลบเลข ก็ถือเป็นการบริหารสมอง หากมีโอกาสไปจ่ายตลาด ก็ให้คิดบวกลบเงินทอนในใจ งดการใช้เครื่องคิดเลข หรือการเล่นเกมส์ซูโดกุ ซึ่งเป็นการเติมตัวเลขในแนวตั้ง แนวนอน การเล่นไพ่ ก็สามารถช่วยฝึกสมองได้ (แต่ต้องไม่ใช่การพนัน)

นอกจากนี้ยังมีการวาดรูป ระบายสี หรืองานประดิษฐ์ การหากิจกรรมที่ไม่เคยทำ เช่น ไปเรียนทำอาหาร ขนมหวาน จะเป็นการพัฒนาสมอง หรือผู้สูงอายุวัย 80 ปี เข้าไปเรียนเนติบัญฑิตเพิ่มก็เป็นการฝึกสมองเช่นกัน

 

ยิ่งใช้สมองมาก ยิ่งชะลอความชราได้มาก

โดยปกติเมื่อเราอายุมากขึ้น สมองก็จะเสื่อมลงเรื่อยๆ เป็นธรรมดา แต่การที่สมองได้ถูกฝึกและถูกใช้อยู่เป็นประจำ จะทำให้อาการเสื่อมนั้นช้าลง อีกทั้งยังช่วยให้ความเครียดลดน้อยลง ก็ส่งผลดีต่อสมองด้วยเช่นกัน แต่ในการใช้สมองนั้นต้องไม่มากเกินไป ควรพักให้สมองได้มีโอกาสจัดเก็บข้อมูล เพื่อเปิดพื้นที่ในการรับข้อมูลใหม่ ทุกอย่างเพียงแค่เดินทางสายกลาง ไม่มากไป ไม่น้อยไป ก็จะส่งผลให้เกิดความสมดุลในชีวิตได้แล้ว

Buy now