วัดความเสี่ยงโรคหัวใจช่วยวินิจฉัยได้…ก่อนมีอาการ

“ตาบอดสี” โรคพันธุกรรม..แต่ใช้ชีวิตปกติได้
August 31, 2022
บำบัดอาการ “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่”
August 31, 2022

วัดความเสี่ยงโรคหัวใจช่วยวินิจฉัยได้…ก่อนมีอาการ

ในแต่ละปี จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคในระบบหลอดเลือดทั้งสมองและหัวใจเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันพบคนไทยเป็นโรคหัวใจประมาณ 260,000 คน/ปี ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ แบบเดิม ซึ่งกว่าจะทราบว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ก็อาจสายไปเสียแล้ว… แต่ด้วยความก้าวหน้าของงานวิจัยและระบบสาธารณสุขที่ได้รับการพัฒนาไปมาก ทำให้ค้นพบการวินิจฉัยโรคหัวใจที่จะส่งผลให้มีแนวทางการรักษาและแก้ไขได้ทัน อีกทั้งเป็นตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงที่มีความสำคัญมากอีกด้วย
จริงๆ แล้วโรคหัวใจเป็นโรคจากความเสื่อมอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนที่เสื่อมไม่ใช่หัวใจ แต่คือ “หลอดเลือด” เพราะการที่หลอดเลือดเสื่อม เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ ก็ทำให้เกิดหัวใจวายเสียชีวิต
“ปกติแล้วเลือดจะนำพาสารอาหารและออกซิเจนผ่านหลอดเลือดเขาไปยัง 2 ส่วนหลักๆ ในร่างกาย คือ ส่วนหนึ่งเข้าไปที่หัวใจ และอีกส่วนหนึ่งจะวิ่งไปที่สมอง เพราะฉะนั้นเวลาหลอดเลือดเสื่อม ก็สามารถเป็นได้ทั้งอัมพาตหรือเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็ได้ ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองนั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงไปทำให้หลอดเลือดตีบ และเราก็พยายามลดอาหารคอเลสเตอรอล แต่สุดท้ายคนก็ยังเสียชีวิตเหมือนเดิม”
สาเหตุที่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้ลดลง แสดงให้เห็นว่าหลอดเลือดที่ตีบตันจากคอเลสเตอรอลนั้น โดยทั่วไปไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่มันทำให้คนไข้เหนื่อย ฉะนั้นคนที่หลอดเลือดหัวใจตีบตัน แม้จะตีบมากถึง 99% ก็ยังเดินได้
“นอกจากเรื่องของคอเลสเตอรอลแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมกับร่างกายรวมถึงที่หลอดเลือดหัวใจก็คือ อายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยแรก ส่วนปัจจัยที่สองเกิดจากการสูบบุหรี่ และปัจจัยสุดท้ายก็คือโรคเบาหวาน ซึ่งน้ำตาลที่มีอยู่ในหลอดเลือดจะส่งผลให้หลอดเลือดเปราะบางและผุพังได้ง่ายนั่นเอง ดังนั้นการลดคอเลสเตอรอลก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะรอดพ้นจากความเสี่ยงไปได้ ยิ่งอายุมาก สูบบุหรี่ มีโรคเบาหวาน พ่วงด้วยความดันโลหิตสูงแล้วล่ะก็ คงไม่ต้องอธิบายว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร”

ปัจจุบันนอกจากคนที่อายุมากแล้ว โรคนี้ยังสามารถเป็นกันได้ทุกวัย อายุตั้งแต่ 20 ปี หรือ 30 ปีขึ้นไปก็เป็นได้ ยิ่งในผู้หญิงที่รอบเดือนหมดจะเป็นเร็ว ถ้ายังมีรอบเดือนจะมีภูมิคุ้มกันต่อการเกิดหลอดเลือดผุกร่อน ในคนที่กินฮอร์โมนทดแทน แม้จะช่วยลดอาการจากภาวะหมดประจำเดือน แต่ถ้ากินนานเกินไปก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน กลายเป็นว่าจะไปเพิ่มปัจจัยเสี่ยงมะเร็งแทน
“โรคหลอดเลือดหัวใจจะไม่มีสัญญาณเตือนก่อนว่าจะเป็น จากที่เคยซักประวัติคนไข้รายหนึ่งซึ่งไปตีกอล์ฟเป็นประจำก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการ แต่วันดีคืนดีระหว่างที่ขึ้นสวิงก็ได้ล้มลงทันที เรียกว่า เป็นอาการเฉียบพลัน ซึ่งในคนที่มีคอเลสเตอรอลอุดตันที่หลอดเลือด แม้จะลดอาหารคอเลสเตอรอลหรือกินยาลดคอเลสเตอรอลก็สามารถเกิดอาการเฉียบพลันนี้ได้ รวมถึงคนไข้ที่ทำบอลลูนไปแล้ว ก็ยังสามารถเสียชีวิตได้จากอาการเฉียบพลันนี้”

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดในรูปแบบเครื่องที่ใช้ตรวจตรงหน้าอก (Pulse Index) เป็นการตรวจด้านกายภาพและชีวเคมีในเลือด วิธีนี้จะวัดที่อัตราการเต้นของหัวใจ โดยใช้ 2 ระบบ

คือ 1. วัดว่าเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจใช้เวลานานเท่าไรจึงไปถึงข้อเท้า และ 2. ตรวจวัดที่ปลายนิ้ว เพื่อดูว่าเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจใช้เวลานานเท่าไรจึงไปถึงปลายนิ้ว เรียกวิธีการนี้ว่า Max Pulse ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้จะบอกได้ว่า หลอดเลือดมีความแข็งหรือยืดหยุ่นเพียงใด ถ้าหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี เลือดก็จะวิ่งเร็วประมาณ 7 – 8 หน่วย แต่ถ้าตรงไหนที่ติดขัดก็จะช้า 9 – 10 วินาที แสดงว่าหลอดเลือดบริเวณนั้นมีปัญหา อาจทีความแข็งกระด้างหรือหลอดเลือดผุพังก็เป็นได้
“ปัจจุบันการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ เพราะหมอจะยึดตามข้อมูลเหมือนกับเมื่อ 60 ปีที่แล้วว่าคอเลสเตอรอลเท่านั้นที่เป็นตัวบอกว่าเป็นโรคหัวใจ แตกต่างกับเทคโนโลยีใหม่การตรวจที่เหมาะกับคนที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือคนที่สูบบุหรี่ ขั้นตอนการตรวจเป็นการนำเลือดไปวิเคราะห์ โดยไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ตรวจหัวใจและตรวจเลือดได้เลย ผลการตรวจที่ออกมาจะเป็นสเกลกราฟิก 7 สเกล ยิ่งมีสเกลถึง 7 แสดงว่ามันหลอดเลือดแข็งมาก ถ้าอยู่ที่ 1 – 2 แสดงว่ามีความยืดหยุ่นดี นอกจากนี้ยังมีค่าที่บอกว่าหลอดเลือดมีอัตราเสี่ยงต่อการแตกหรือไม่ ซึ่งเป็นค่าที่สำคัญมาก เพราะถ้าหลอดเลือดแตกก็จะเสียชีวิตได้ทันที ดังนั้นถ้าตรวจเจอหลอดเลือดที่ผุแล้ว จะช่วยให้สามารถแก้ไขดูแลให้กลับมามีคุณภาพได้แม้จะไม่ 100% เช่นเดิมก็ตาม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้ค้นพบสารสำคัญชนิดหนึ่ง เรียกว่า โทโคไตรอีนอล ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าว จึงไม่ผิดหากเราจะบอกว่า กินข้าวเป็นยา รักษาโรคได้”

 

แม้ประเทศญี่ปุ่นจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำกว่าอเมริกามาก เพราะคนญี่ปุ่นนิยมรับประทานปลาทานผัก ส่วนคนอเมริกานิยมทานเนื้อสัตว์ แต่คนญี่ปุ่นก็มิได้นิ่งเฉยในการที่จะค้นคว้าวิจัยหาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการในการดูแลสุขภาพ…วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดปัจจัยเสี่ยงก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยให้มีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีอีกด้วย เพราะถ้าคุณยังกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ต่อให้มียาดียาวิเศษแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยให้คุณมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนได้แน่นอน

Buy now