“ยา” กับ “ผู้สูงอายุ” อันตราย..อยู่ใกล้แค่เอื้อม

October 19, 2022
ไขข้อข้องใจ MRI วินิจฉัยได้ทุกโรค จริงหรือ???
October 25, 2022

 “ยา” กับ “ผู้สูงอายุ” อันตราย..อยู่ใกล้แค่เอื้อม

 

เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้มีภาวะความเจ็บป่วยมากขึ้นตามไปด้วย “ผู้สูงอายุ” จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการใช้ยามากกว่าบุคคลกลุ่มอื่น อีกทั้งยังมีโอกาสในการใช้ยารักษาโรคหลายชนิดในเวลาเดียวกันด้วย

สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากสำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุก็คือ การเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา หรือที่เรียกว่า “ยาตีกัน” อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายคนวัยนี้ ยังส่งผลให้การดูดซึมยา การกระจายยา การเปลี่ยนแปลงยา และการกำจัดยาออกจากร่างกาย ไม่ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว ทำให้มีความเสี่ยงในการใช้ยามากกว่า นอกจากนี้ปัญหาที่อาจเกิดทางอ้อม เช่น อ่านฉลากยาผิด อ่านไม่ครบถ้วน ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของสายตาในวัยสูงอายุ  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจในการใช้ยาของผู้ป่วยกลุ่มนี้

ยาในผู้สูงอายุ

กลุ่มยาที่ผู้สูงอายุใช้บ่อย

  1. ยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาลดไขมัน เป็นต้น

  2. ยานอนหลับ ยาคลายเครียด วัยสูงอายุมักพบปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก ตื่นบ่อยเวลากลางคืน ทำให้เกิดภาวะเครียด ทำให้ผู้สูงอายุหันมาพึ่งพายากลุ่มนี้มากขึ้น

  3. ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ อาการปวดเมื่อยอันเนื่องมาจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ท่าทางที่ผิดวิธี หรือจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวดเมื่อยมากขึ้น แต่ถ้าใช้เกินความจำเป็นก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้

  4. วิตามินและอาหารเสริม เมื่ออายุมากขึ้น คนส่วนใหญ่มักมองหาวิตามิ หรืออาหารเสริมบำรุงร่างกาย จึงทำให้ผู้สูงอายุมีการใช้วิตามินหรืออาหารเสริมมากขึ้น

  5. สมุนไพร ปัจจุบันยากลุ่มสมุนไพรมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางกลุ่มเลี่ยงการใช้ยาเคมีมาใช้กลุ่มยาสมุนไพร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ มักใช้ยาในกลุ่มนี้มากขึ้น

 

ยาในผู้สูงอายุ

ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ

  1. การได้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ทำให้ยามีปฏิกิริยาต่อกันหรือยาตีกัน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ถ้าได้รับยาลดความดันโลหิตชนิดขับปัสสาวะ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การรักษาเบาหวานจึงมักไม่ได้ผล

  2. การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในการออกฤทธิ์และกำจัดยาออกจากร่างกาย เนื่องจากผู้สูงอายุมีสัดส่วนของไขมันเพิ่มขึ้นและน้ำในร่างกายลดลง ทำให้ยาหลายชนิดมีระดับยาสูงขึ้นในร่างกาย อาจเกิดพิษได้ง่ายและยาออกฤทธิ์นานกว่าปกติ นอกจากนี้การที่ตับมีขนาดเล็กลง เลือดมาเลี้ยงลดลง โอกาสที่จะมียาตกค้างจึงสูง การกำจัดยาทางไต ทำได้ลดลงเนื่องจากไตทำงานลดลงตามอายุ ทำให้ขับยาออกจากร่างกายไม่ได้

  3. พฤติกรรมและทัศนคติของผู้สูงอายุต่อยา เช่น การซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดตามข้อ มักซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนมารับประทาน เพราะเข้าใจว่าผลิตจากสมุนไพรจึงน่าจะปลอดภัย แต่ยากลุ่มนี้มักมีการผสมยากลุ่มสเตียรอยด์ จึงส่งผลเสียในระยะยาว เช่น กระดูกพรุน ต่อมหมวกไตฝ่อ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น

  4. การไม่ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ชอบมาพบแพทย์ เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านร่างกาย เช่น มีอาการเดินลำบากจากอาการปวด ทางด้านจิตใจ เช่น ไม่อยากรบกวนให้ผู้ดูแลพามาโรงพยาบาล รวมถึงข้อจำกัดทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การคมนาคมไม่สะดวก ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ขาดการติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ญาติผู้ดูแลก็มีแนวโน้มไม่อยากที่จะลำบากพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ จึงพบได้บ่อยว่าญาติมาขอรับยาเดิมจากแพทย์ โดยไม่พาผู้ป่วยมารับการติดตาม อาจทำให้ยาเหล่านี้จะสะสมจนเกิดเป็นพิษได้โดยไม่รู้ตัว

  5. การเก็บสะสมยา ผลจากการที่ผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังและได้รับยาหลายชนิด ผู้ป่วยบางรายอาจจะเก็บสะสมยาไว้ โดยไม่ได้รับประทานหรือรับประทานไม่หมด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็จะเลือกรับประทานยาจากที่สะสมไว้ ชนิดที่เคยรับประทานได้ผล โดยยานั้นอาจจะหมดอายุแล้วหรือมีข้อห้ามใช้ยานั้นเกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

 

ยาในผู้สูงอายุ

 

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ยาในผู้สูงอายุ คือ การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง (เท่านั้น) พบแพทย์ตามนัดเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ใช้ยาเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ และก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ขอปฎิบัติง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็เป็นเกราะป้องกัน “ยา” อันตรายที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมของ “ผู้สูงอายุ” ได้แล้ว

 

Buy now