“บริจาคอวัยวะ” หนึ่งผู้ให้ ต่อชีวิตและคืนความสุข ให้อีกหลายชีวิต

 “รังสีร่วมรักษา”
August 10, 2020
3 สัญญานเตือน เมื่อไหร่ต้องมาพบจิตแพทย์ ???
August 21, 2020

 

“บริจาคอวัยวะ” หนึ่งผู้ให้ ต่อชีวิตและคืนความสุข ให้อีกหลายชีวิต

 

“ทำดีได้ดี มีที่ไหน ทำชั่วได้ดี มีถมไป” ประโยคเสียดแทงที่หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมา ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่ความเห็นแก่ตัว เริ่มเข้ามารุกรานจิตใจคนเรามากขึ้น คนที่ไม่มีเกราะคุ้มกันทางจิตใจที่แข็งแรงพอ ก็พร้อมจะเอนเอียงไปตามกระแสสังคมในปัจจุบัน การทำความดีจึงเริ่มมีให้เห็นน้อยลงเรื่อยๆ  

การทำความดีนั้น สามารถแสดงออกหรือปฏิบัติได้หลากหลายวิธี หลากหลายรูปแบบ แต่การทำความดีที่เรียกได้ว่าไม่สิ้นสุด คือ “การอุทิศอวัยวะเมื่อยามสูญสิ้น หนึ่งคนที่เป็นผู้ให้ ทำให้ผู้รับมีได้มากกว่าหนึ่งคน” ซึ่งนี่อาจเป็นคุณค่าของการให้อย่างแท้จริง หรือเรียกว่า เป็นสุดยอดของการให้ก็ว่าได้ ดังนั้น “การบริจาคอวัยวะ” จึงควรเป็นเรื่องราวดีๆ ที่คนในสังคมควรตระหนักถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่า คนที่กำลังรอชีวิตใหม่หรือรอการบริจาคอวัยวะเหล่านั้น จะเป็นตัวเราเอง หรือคนที่เรารักหรือไม่

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย หน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการรับบริจาคอวัยวะจากผู้มีจิตกุศล โดยรณรงค์ให้มีการบริจาคอวัยวะให้เพียงพอใช้ภายในประเทศ พร้อมจัดสรรและส่งต่ออวัยวะที่ได้รับการบริจาคให้กับผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะด้วยความเสมอภาค ซึ่งหัวใจสำคัญในการทำงานของเราก็คือ ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องใช้อวัยวะที่ได้รับให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งอวัยวะที่ได้มาต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ต้องมีความปลอดภัย ไม่ติดเชื้อเอดส์ ไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ซิฟิลิส และมะเร็ง โดยอวัยวะที่ได้รับการบริจาคนี้จะถูกจัดสรรให้กับโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 

ความต่างของ “การบริจาคอวัยวะกับการบริจาคร่างกาย” 

การบริจาคอวัยวะไม่เหมือนกับการบริจาคร่างกาย ซึ่งการบริจาคร่างกายนั้นไม่ว่าจะเสียชีวิตอย่างไรก็สามารถบริจาคได้ อายุเท่าไหร่ก็ได้ (แต่ถ้าอายุมากเกินไป อาจบริจาคไม่ได้เพราะร่างกายเริ่มเสื่อม) โดยการบริจาคจะให้ระบุว่าว่าต้องการบริจาคให้กับโรงเรียนแพทย์ที่ใด เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิต ร่างกายจะถูกนำแช่ฟอร์มาลีน 8 – 10 เดือน แล้วจึงจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนให้นักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่เรียกกันว่า “อาจารย์ใหญ่” โดยจะใช้ในการเรียนการสอนประมาณ 2 ปี จากนั้นจะนำไปบำเพ็ญพิธีทางศาสนา 

ส่วนการบริจาคอวัยวะ ต้องเป็นคนไข้ที่มีภาวะสมองตายแต่หัวใจยังเต้นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกสามารถปลูกถ่ายได้เกือบทุกอวัยวะยกเว้นสมอง โดยอวัยวะที่จำเป็นแก่ชีวิต ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ และไต อวัยวะทั้งหมดเราจะเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายก็ต่อเมื่อคนไข้ไม่สามารถจะรักษาด้วยวิธีการใดๆได้แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่มีสภาวะหัวใจวาย, หัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ที่มีค่าความสามารถในการบีบเลือดออกจากหัวใจ (Ejection fraction) เหลือน้อยกว่าร้อยละ 25, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง ส่งผลให้เกิดอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยการรักษาแบบอื่นได้, ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่มีลักษณะของโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งการผ่าตัดลิ้นหัวใจ จะเปลี่ยนให้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจรูมาติกส์ ลิ้นหัวใจตีบ และหัวใจรั่ว 

ปลูกถ่ายอวัยวะ ทางเลือกสุดท้ายในการรักษา?

การเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะอาจเรียกได้ว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา เนื่องจากไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่นๆ แล้ว อีกทั้งผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันไปตลอด เพราะร่างกายอาจปฏิเสธอวัยวะที่ได้รับบริจาค ซึ่งยากดภูมิคุ้มกันจะส่งผลข้างเคียง คือ 1. ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย 2. เมื่อภูมิคุ้มกันต่ำโอกาสที่จะเป็นมะเร็งค่อนข้างสูง เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน 3. ยากดภูมิคุ้มกันอาจส่งผลให้ไตเสื่อม แต่หากมองในภาพรวมการได้ต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป แม้จะแลกด้วยผลข้างเคียงบ้างก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะแลก 

ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2530 โดยได้รับการเปลี่ยนหัวใจตั้งแต่อายุประมาณ 18 ปี ซึ่งตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ จะเห็นได้ว่า ถ้าได้รับการดูแลและได้รับยาที่ดี ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีกนานแสนนาน

ขั้นตอนจัดเก็บและนำอวัยวะไปใช้งาน

เมื่อผู้ที่ลงทะเบียนบริจาคอวัยวะเสียชีวิต (มีภาวะสมองตายแต่หัวใจยังเต้น) ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย จะส่งทีมแพทย์ไปนำอวัยวะกลับมา โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายคนไข้ โดยอวัยวะจะถูกตัด ทำความสะอาด และแช่เย็นกลับมา ซึ่งการเคลื่อนย้ายอวัยวะต้องมีความถูกต้องรวดเร็ว ต้องมีการประสานงานกันตลอด ระหว่างทีมแพทย์ที่ไปนำอวัยวะมาจากผู้บริจาค กับทีมแพทย์ที่รอทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากอวัยวะทุกชิ้นมีระยะเวลาของมัน ได้แก่ 

⚫ หัวใจ อยู่ได้ 4 ชั่วโมง 

⚫ ตับ อยู่ได้ 6 ชั่วโมง 

⚫ ปอด อยู่ได้ 8 ชั่วโมง 

⚫ ไต อยู่ได้ 24 ชั่วโมง 

เกณฑ์การจัดสรรอวัยวะสู่ผู้รับบริจาค

ผู้ที่จะได้รับการบริจาคอวัยวะ ต้องเป็นคนไข้ที่โรงพยาบาลส่งเรื่องเข้ามายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยข้อมูลที่ทางโรงพยาบาลต้องส่งให้เราประกอบด้วย อายุคนไข้ ข้อมูลที่แสดงให้ทราบว่าคนไข้มีเนื้อเยื่อชนิดไหน ชื่อของแพทย์ที่ดูแล แพทย์ที่ผ่าตัด ข้อมูลที่บอกว่าคนไข้เป็นโรคอะไร ต้องเปลี่ยนอวัยวะใด เพราะข้อมูลนี้จะต้องนำมาจัดสรรและเข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างกรณีที่เรามีไตสองข้างจากผู้บริจาค ซึ่งจะนำเม็ดเลือดขาวของผู้เสียชีวิตมาทำปฏิกิริยาซีรั่มกับผู้รับบริจาคในแต่ละราย (Antibody) ทั้งหมดมี 4 ราย ถ้าผลการทำปฏิกิริยาออกมาคล้ำ เราเรียกว่า บวก จะไม่สามารถให้อวัยวะกับผู้รับบริจาครายนั้นได้ แต่ถ้าผลการทำปฏิกิริยาออกมาเป็น ลบ (Negative) คนไข้รายนั้นก็สามารถรับบริจาคไตได้ 

ผู้ที่จะบริจาคอวัยวะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา โลหิตไม่เป็นพิษ ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี ยกตัวอย่างกรณีปลูกถ่ายไต เมื่อทำการปลูกถ่ายแล้วคนไข้ต้องสามารถปัสสาวะออกได้ทันที ไม่มีอาการช็อค และหากเป็นหัวใจ เมื่อใส่ไปแล้วเอาไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจจะต้องเต้นทันที 

ความเพียงพอของอวัยวะบริจาค

ปัจจุบันถึงจะมีจำนวนผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต แต่ผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะมีมากกว่าหลายเท่า   ถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะมีคนไข้อีกเกือบล้านคนที่ต้องล้างไตและไตวาย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า “ไต” ยังเป็นอวัยวะที่รอรับการบริจาคอยู่เป็นจำนวนมาก  

 

จากทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นจะเห็นว่า ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เปรียบเสมือนศูนย์กลาง และมีความเป็นกลางแก่ผู้เสียชีวิตที่ได้ให้อวัยวะแก่สังคม จึงได้ดูแลจัดสรรอย่างเป็นธรรม และนำอวัยวะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด…ดังนั้นเมื่อเราเสียชีวิต เราไม่ได้ใช้อวัยวะพวกนี้ จึงอยากให้ลบความเชื่อผิดๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเราอาจทำให้อีกหลายชีวิตรอด เพราะการบริจาคอวัยวะทำให้เราได้ช่วยต่อชีวิตและคืนความสุขให้กับเพื่อนมนุษย์อีกหลายๆ ชีวิต

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthchannel.co.th

https://www.facebook.com/Globalhealthchannel

Buy now