“ท่อน้ำตาอุดตัน” อย่าชะล่าใจ

พุง
February 14, 2023
ตับ
คุณถนอมตับมากแค่ไหน
February 14, 2023
ท่อน้ำตาอุดตัน

“ท่อน้ำตาอุดตัน” อย่าชะล่าใจ

 

หากวันหนึ่งคุณพบว่าตัวเองมีภาวะน้ำตาไหลตลอดเวลา ไหลออกมาเหมือนคนร้องไห้ อย่าชะล่าใจ!!! เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหา ท่อน้ำตาอุดตัน ก็เป็นได้ แม้ฟังดูเหมือนไม่อันตราย แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลเสียต่อดวงตาได้ในอนาคต

ท่อน้ำตา คือ ส่วนที่อยู่บริเวณมุมหัวตา ซึ่งมี 2 ท่อด้วยกัน คือด้านบน – ด้านล่าง การทำงานของท่อน้ำตานั้นจะเข้าไปรวมกันที่บริเวณข้างๆ จมูกแล้วไหลลงไปในจมูก ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน หรือ ท่อน้ำตาตัน (Nasolacrimal duct obstruction) เป็นภาวะที่มีการอุดตันของท่อระบายน้ำตา ท่อน้ำตาส่วนใหญ่ที่เราเจอก็อยู่ตรงท่อใกล้ๆกับปลายจมูก ภาวะนี้พบได้บ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะในทารก ส่วนในผู้ใหญ่เองก็พบว่ามีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากเช่นเดียวกัน

สาเหตุของการเกิดท่อน้ำตาอุดตัน ในทารกแรกเกิด มักจะเกิดจากการที่มีเยื่อมาบังไว้ตรงปลายทางเดินในจมูก จึงทำให้น้ำตาเอ่อเข้าไปในลูกตาและไหลออกที่ดวงตา  เนื่องจากตอนที่เราอยู่ในครรภ์มารดา ท่อน้ำตาจะยังไม่สมบูรณ์ โดยท่อน้ำตาจะค่อยๆ สร้างรูขึ้นมาตรงกลางมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็จะไปเปิดตรงปลายท่อ ในช่วงใกล้คลอด

ท่อน้ำตาอุดตัน

สำหรับในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่สาเหตุอื่นๆที่เชื่อมโยงได้ คือ เกิดขึ้นจากการที่มีพังผืดขึ้นมากั้นตรงท่อในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งในบางคนอาจจะติดเชื้อมาก่อนหรือมีการอักเสบเรื้อรังมาก่อน แล้วส่งผลทำให้เกิดพังผืดปิดบริเวณนั้นได้

อาการของท่อน้ำตาอุดตัน คือ จะมีอาการน้ำตาไหลมากจนเอ่อมาที่เบ้าตาข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา มีน้ำตาไหลออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น ทำงานไม่ได้ ขับรถไม่ได้ และหากปล่อยทิ้งไว้นานๆก็อาจจะทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการติดเชื้อตามมาได้อีกด้วย

การรักษาท่อน้ำตาอุดตันแบ่งตามกลุ่มอายุที่เกิดโรคโดย การรักษาในเด็ก จะมีวิธีการรักษาโดยการใส่ท่อขยาย เพื่อให้พังผืดเปิดออก ซึ่งจริงๆแล้วเด็กที่มีภาวะท่อน้ำตาอุดตัน เมื่ออายุเข้าขวบปีแรกพังผืดดังกล่าวจะเปิดออกเอง แต่ถ้า 1 ขวบแล้วยังไม่เปิด แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจความผิดปกติอื่นๆ และรีบทำการรักษาต่อไป

ท่อน้ำตาอุดตัน

สำหรับ การรักษาในผู้ใหญ่ มี 2 ทางเลือก คือ

  1. การใส่ท่อขยาย โดยจะใส่สายซิลิโคนค้างไว้เหมือนเป็นการทำให้พังผืดขยายออก วิธีนี้ได้ผลประมาณ 70 % แต่จะใช้ได้เฉพาะคนที่มีท่อน้ำตาตันซึ่งไม่มีการติดเชื้อมาก่อน การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์จะนัดตัดไหมออก แต่จะมีสายซิลิโคนค้างอยู่บริเวณหัวตานานประมาณ 2 เดือน
  2. การผ่าตัดสร้างทางเดินน้ำตาใหม่ แพทย์จะทำทางเชื่อมโดยตรงระหว่างถุงน้ำตาเข้าไปที่จมูกโดยตรง ซึ่งจะไม่ไปผ่านทางท่อน้ำตาเดิมที่ตันอยู่ การผ่าตัดนี้ทำได้ 2 วิธีคือ ผ่าตัดจากด้านนอก หรือจะใช้การผ่าตัดส่องกล้องก็ได้ วิธีนี้จะใช้สำหรับคนที่มีการติดเชื้อ มีน้ำตาไหล ร่วมกับการมีหนองไหลออกมาด้วย ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จะไม่มีแผล แต่ต้องดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด เช่น การล้างจมูก และการหยอดยา

แม้ว่า ท่อน้ำตาอุดตัน จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการตามที่ได้กล่าวมานั้น ก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

Buy now