มาล้างจมูกกันเถอะ

ขยะ
 “ขยะ” เรื่องสำคัญที่ต้องรู้
December 23, 2022
โรคหลอดเลือดหัวใจ
Strokeกรรมพันธุ์ไหม? รู้ทันรักษาก่อน
January 2, 2023
ล้างจมูก

 

มาล้างจมูกกันเถอะ

 

 

ประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นทุกปี สาเหตุส่วนใหญ่มาจากมลภาวะในสภาพแวดล้อม ทั้งมลพิษและสารเคมีต่างๆ ที่ได้สูดดมกันทุกวัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นวิธีการดูแลสุขภาพที่ทำได้ง่ายๆ อย่าง “การล้างจมูก” ก็สำคัญ แต่ควรต้องทำอย่างถูกวิธีด้วย

ล้างจมูก

ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก มักจะมีอาการไวต่อสิ่งกระตุ้น มีอาการไอ จาม คัดจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล คัดแน่นจมูก คันรอบดวงตา หายใจไม่ออกหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้  เป็นต้น หนึ่งวิธีที่จะช่วยได้ คือ “การล้างจมูก” หมอจะแนะนำให้ล้างเป็นประจำในผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้ มีน้ำมูกมาก, ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง, ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยๆ, ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดไซนัส หรือผู้ที่ได้รับการฉายแสงบริเวณโพรงจมูก เป็นต้น

การล้างจมูก เป็นการรักษาความสะอาดในโพรงจมูก เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรก น้ำมูก คราบสะเก็ดเยื่อบุโพรงจมูก หรือหนองในโพรงจมูกและไซนัส เป็นการรักษาสุขลักษณะที่ดีในโพรงจมูก ช่วยลดสารคัดหลั่งและสารก่อภูมิแพ้ที่เกาะติดในเยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งการล้างจมูกควรใช้น้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 0.9 เนื่องจากมีความเข้มข้นเท่ากับเกลือแร่ในร่างกาย ไม่ทำให้ระคายเคืองหรือแสบโพรงจมูก ไม่แนะนำน้ำประปา น้ำคลอง หรือน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงจมูกและในสมอง ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ล้างจมูก

การล้างจมูกในแต่ละช่วงอายุ

— เด็กเล็กต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือปริมาณมากๆ อาจใช้เพียงการเช็ด การหยอดน้ำเกลือหยดสองหยด การดูดน้ำมูกออกด้วยลูกยาง หากมีน้ำมูกมากเด็กหายใจลำบากควรปรึกษาแพทย์

— เด็ก 6 เดือน ถึง 2 ปี ไม่ค่อยมีภาวะติดเชื้อในไซนัส อาจมีโรคภูมิแพ้มีอาการน้ำมูกคั่งมาก การล้างจมูก ใช้ไซริงค์ 5 – 20 มิลลิลิตร ผู้ปกครองควรทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ปริมาณมาก หรือฉีดด้วยความแรง

— เด็ก 2 – 4 ปี ใช้กระบอกฉีดยาหรือขวดน้ำเกลือ ปริมาณควรเริ่มที่น้อย กล่าวคือ 10 – 20 มิลลิลิตร ปริมาณที่เหมาะสมในกรณีที่น้ำมูกมาก – เหนียว ใช้ประมาณ 40 – 60 มิลลิลิตร ต่อจมูกหนึ่งข้าง ควรสอนให้เด็กทำเอง เพื่อกันภาวะสำลักขึ้นโพรงจมูก

— เด็กอายุมากกว่า 4 ปี – ผู้ใหญ่ เนื่องจากไซนัสในเด็กกลุ่มนี้เจริญเติบโต มีการติดเชื้อมากขึ้น มีภาวะติดเชื้อได้ง่าย น้ำมูกเหนียว ปริมาณน้ำเกลือที่ใช้เพื่อล้างโพรงจมูก จะใช้ประมาณ 2 – 4 ออนซ์ หรือ 60 – 120 มิลลิลิตรต่อโพรงจมูก การล้างจมูกควรนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือที่ล้างโพรงจมูก อ้าปาก และก้มหน้าเล็กน้อย ล้างจนสารคัดหลั่งที่ออกมามีลักษณะใส จึงยุติการล้าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากล้างจมูกเสร็จ ควรสั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก  และบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมออกมาให้หมด การล้างจมูกควรทำบ่อยๆ จะทำให้สิ่งสกปรกที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออกมาได้มากขึ้น แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก อุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ควรลวกน้ำร้อนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดการติดเชื้อที่ตามมาได้ หากมีข้อสงสัยควรพาผู้ป่วยมาตรวจ รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แผนกหู คอ  จมูก เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วย

ล้างจมูก

 

Buy now