“ร.ร.ผู้สูงอายุ” โลกการเรียนรู้ที่ไม่มีวันแก่

ว่าด้วยเรื่อง “โครเมียม” ในกาแฟลดน้ำหนัก
March 20, 2022
“เฟอร์นิเจอร์สร้างสุข” เพื่อคนสูงวัย
March 20, 2022

ตอนนี้เรียกได้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุเกือบสมบูรณ์แบบ” หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้นั้น คือการก่อตั้ง โรงเรียนผู้สูงอายุที่มุ่งให้กลุ่มคนสูงอายุได้ออกมาเรียนรู้ชีวิตอย่างสมวัย มีความรู้ติดตัวเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เปลี่ยนจากภาระให้เป็นพลังแก่สังคมได้

 

 

อายุปูนนี้ยังไปโรงเรียนอีกหรือ? คำถามที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นภาพกลุ่มคุณตาคุณยาย ออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ ซึ่งโรงเรียนที่เอ่ยถึงเรียกกันว่า “โรงเรียนผู้สูงอายุ”

โรงเรียนผู้สูงอายุคือกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบโรงเรียน เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้แก่ผู้สูงวัย อาจใช้หอประชุมหมู่บ้าน ศาลาวัด หรืออาคารอเนกประสงค์ของโรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในแต่ละท้องถิ่น แปลงโฉมเป็นโรงเรียนให้บรรดานักเรียนผู้สูงอายุได้มาหาความรู้กัน ซึ่งปัจจุบันองค์กรส่วนท้องถิ่นมีการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ กระจายไปทั่วประเทศ

โรงเรียนผู้สูงวัยมาจากแนวคิดการพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้ที่มีศักยภาพ (Active Ageing) ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งโรงเรียนผู้สูงอายุพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี โดยมีความคิดริเริ่มจากปัจจัยหลัก คือความพยายามที่จะลดปัญหาของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งภาวะการเจ็บป่วย ความเหงา และการทำร้ายตนเอง ประกอบกับผู้นำชุมชนมีความต้องการพัฒนาบุคลากรในชุมชน รวมไปถึงเป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ

โรงเรียนผู้สูงอายุจึงถือเป็นการจัดการศึกษารูปแบบหนึ่งให้ผู้สูงอายุได้มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต มองเห็นคุณค่า ความสำคัญ และพลังของตน โดยการสร้างพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

วิชาชีวิตที่โรงเรียนอื่นไม่มีสอน

ไม่มีใครแก่เกินเรียน เช่นเดียวกับนักเรียนสูงวัยในโรงเรียนสูงอายุ ซึ่งกระแสโรงเรียนผู้สูงอายุเริ่มกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่งปรับกิจกรรม เช่น จากการแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำเดือน พร้อมกับให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ หรือนัดพบปะกันเดือนละ 2 ครั้ง เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันก็ตั้งว่าโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้โรงเรียนผู้สูงอายุหลายแห่งได้มีการจัดห้องเรียนเป็นหลักแหล่ง และจัดทำหลักสูตรถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ มีระยะเวลาการเปิดปิดเรียนที่แน่นอน  และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนอายุ 50 – 85 ปี รวมถึงมีเครื่องแบบที่ประยุกต์จากการแต่งกายของพื้นถิ่น ให้ดูสวยงามและสมศักดิ์ศรี

ส่วนการเรียนการสอนในโรงเรียนผู้สูงวัยนั้นเป็นกิจกรรมเรียนปนเล่น ให้ความรู้พร้อมกับทำกิจกรรมที่สนุกสนาน มีการออกแบบเนื้อหารายวิชาต่างๆ ที่จะเสริมสร้างปัญญา สุขภาพกายและจิต รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น

– ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ ครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บในวัยสูงอายุ การดูแลตนเองทั้งในภาวะปกติและภาวะเจ็บป่วย ตัวอย่างวิชาที่สอน เช่น เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ รู้ทันโรค รู้ไว้…จะได้ไม่ป่วย ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี แก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ กินต้านโรค…โภชนาการในผู้สูงวัย ขยับกาย สบายชีวี สมาธิ…ภาวนา เป็นต้น

– ผู้สูงอายุในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ให้ความรู้ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อการปรับตัวในสังคมสมัยใหม่ และการมีส่วนร่วมในสังคม ด้วยการเป็นจิตอาสา การเป็นผู้สูงอายุที่ยังคุณประโยชน์ (Productive Ageing) ตัวอย่างวิชาที่สอน เช่น   สังคมไทย สังคมโลก, วิถีอาเซียน, ทำอย่างไรไม่ให้เป็นมนุษย์ป้า, เป็นสูงวัยที่ใครๆ ก็รัก, กฎหมายใกล้ตัว, สิทธิผู้สูงอายุ มีมากกว่าที่คุณคิด, ขอบคุณที่เราอายุมั่นขวัญยืน เป็นต้น

– ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น การประยุกต์ใช้ศาสนาในการดำเนินชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัวอย่างวิชาที่สอน เช่น พระพุทธเจ้าสอนอะไร พิธีกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เสน่ห์แบบไทย เป็นต้น

– การเรียนรู้ตามอัธยาศัย วิชาการเกษตร ดนตรี งานประดิษฐ์ คหกรรม รวมถึงเทคโนโลยี การใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เกิดการผ่อนคลายและความสุขทางใจ และเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข ตัวอย่างวิชาที่สอน เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์จากขยะรีไซเคิล เหรียญโปรยทาน เรียน Line แล้วออกลาย ไตร่ตรองก่อนกด Like, กด Share เป็นต้น

ปริญญาแห่งวิชาสูงวัย

“บางพื้นที่มีการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่เมื่อมีโรงเรียนผู้สูงอายุแล้วพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายลดลง หรือนักเรียนสูงอายุบางคนพอถึงวันนัดมาโรงเรียน ก็จะแต่งตัวรอมาเรียน บางคนอยู่บ้านไม่ทำความสะอาดร่างกาย ก็เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง”

ซึ่งจากสภาพการดำเนินชีวิตในชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ผู้สูงอายุคือผู้ที่ถูกลืมจากสังคม อยู่ในบ้านอย่างเงียบเหงา เกิดทัศนคติที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง คือนั่งรอวันตายอย่างไร้คุณค่าต่อสังคม หรือในสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตนเอง ขาดสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลอื่น เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ และได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ทำให้นักเรียนสูงอายุได้พูดคุย สร้างความมีชีวิตชีวาและลดภาวะซึมเศร้า ความเหงาแก่ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต เพื่อนำไปปรับใช้กับตัวเอง และยังสามารถถ่ายทอดให้กับบุตรหลานได้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในทางที่ดี รู้สึกชีวิตมีความหมาย นับเป็นการแสดงว่าถึง “คุณค่าในชีวิตเพิ่มขึ้น”

อีกทั้ง “มีความสามารถในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น” เมื่อได้เรียนรู้การรับประทานยาอย่างถูกวิธี มีการนำความรู้ด้านการออกกำลังกายไปทำที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ได้ลดภาระการดูแลจากสมาชิกในครอบครัวลงได้มาก นับว่านักเรียนสูงอายุสามารถจัดการตนเองและพึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง

กล่าวได้ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งสุขภาพกายและจิต กอปรกับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนผู้สูงอายุ คือมาตรวัดความสำเร็จของการเรียนรู้ เป็นปริญญาแห่งวิชาสูงวัยที่แม้ไม่มีแผ่นกระดาษติดประดับผนังบ้าน แต่ปัญญาและอารมณ์จะติดตัวให้ชีวิตในวัยชรามีค่าเพิ่มขึ้น และนำไปปรับใช้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 

Buy now