“แอนแทรกซ์” โรคที่ต้องเฝ้าระวัง

CT scan
MRI กับ CTscan ต่างกันนะ…รู้ยัง
January 23, 2023
บำรุงราษฎร์ ฉายภาพใหญ่ปี 2023 ก้าวสู่ปีแห่งความเป็นเลิศ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ใหม่และทิศทางดำเนินงานสู่ความสำเร็จด้าน Medical and Wellness Destination
January 27, 2023
แอนแทรกซ์

 

“แอนแทรกซ์” โรคที่ต้องเฝ้าระวัง

                —————————————————–

 

เมื่อพูดถึง “โรคระบาด” คนส่วนใหญ่มักคิดถึง โรคไข้เลือดออก, ไข้หวัดใหญ่ และอหิวาตกโรค เป็นต้น  แต่ความจริงแล้วโรคทางผิวหนังก็มีโรคระบาดด้วยเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ “โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)”

โดยโรคแอนแทรกซ์ จัดเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะในสัตว์กินพืช เช่น โค กระบือ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์ชนิดอื่น เช่น สุนัข แมว สุกร เนื่องจากวัคซีนและยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การเกิดโรคและการระบาดลดลง การพบโรคในปัจจุบันจึงมักเกิดจากการถูกนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) โดยเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เชื้อจะสร้างสปอร์ป้องกันตนเองทำให้มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมเป็นอย่างมาก สามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบปี โรคนี้ติดต่อสู่คนได้ทางการสัมผัสกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เป็นโรค การติดต่อที่ผิวหนังเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือบาดแผล การติดต่อทางระบบทางเดินหายใจเกิดจากการหายใจเอาสปอร์เชื้อโรคเข้าไป และทางระบบทางเดินอาหารเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อแล้วจะใช้เวลา 1 – 7 วัน จึงจะแสดงอาการของโรค หากเป็นการรับเชื้อโดยหายใจเอาสปอร์ของเชื้อที่มาจากอาวุธชีวภาพ อาจมีระยะฟักตัวได้นานถึง 60 วัน

แอนแทรกซ์

อาการแสดงของโรคแอนแทรกซ์ที่เกิดในคน พบได้ 3 ลักษณะ คือ

  1. โรคแอนแทรกซ์ของผิวหนังเกิดจากการมีบาดแผลที่ผิวหนังแล้วไปสัมผัสกับเชื้อแอนแทรกซ์ อาการเริ่มแรกคือเป็นตุ่มแดงมีอาการคัน ใน 2 – 3 วันถัดมาจะบวมกลายเป็นตุ่มหนองและตุ่มน้ำใส จากนั้นจะมีสีม่วงคลํ้า ตุ่มพองที่แตกออกตรงกลางแผลจะกลายเป็นสะเก็ดสีดำ (Eschar) ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณใกล้เคียงจะเจ็บและบวมแดง อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย รอยโรคอาจลุกลามเกิดเป็นตุ่มน้ำออกไปโดยรอบและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำตามมา โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือ นิ้ว มือ แขน และขา หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีแผลอาจลุกลามและมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นซ้ำซ้อน
  2. โรคแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินหายใจเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์เข้าไป เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะแบ่งตัวและแพร่เข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ มีอาการคล้ายไข้หวัด ต่อมาจะเริ่มมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อย หากได้รับการรักษาล่าช้าจะมีอาการทางปอดรุนแรงจนมีระบบการหายใจล้มเหลวได้
  3. โรคแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อแอนแทรกซ์ปนเปื้อนเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะแบ่งตัวทำให้เกิดรอยโรคบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวและอาจมีมูกเลือดปน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงได้

สำหรับการวินิจฉัยโรคแอนแทรกซ์ ทำได้โดยการตรวจสอบจากประวัติการสัมผัสโรคและตรวจร่างกาย ร่วมกับการนำสิ่งส่งตรวจจากแผลที่ผิวหนัง เสมหะ หรืออุจจาระ ส่งย้อมเพื่อดูเชื้อโรคและเพาะเชื้อ รวมถึงการเพาะเชื้อจากเลือดของผู้ป่วย

การรักษาโรค ทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งสามารถใช้ได้หลายชนิดและมีประสิทธิภาพดี ยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ เพนนิซิลิน, สเตรพโตมัยซิน, เตตร้าไซคลิน, อีรีโทรมัยซิน และคลอแรมเฟนนิคอล

ในส่วนของ การป้องกันโรค สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดประมาณ 3 สัปดาห์ หากเป็นกรณีอาวุธชีวภาพสามารถสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษเพื่อป้องกันระบบทางเดินหายใจได้

 

หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็ว จะรักษาโรคได้โดยง่าย แต่หากไม่รักษา โรคแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง จะมีอัตราการตายประมาณ 20% โดยเกิดจากเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด หากเป็นที่ระบบทางเดินหายใจจะมีอัตราการตายเกือบ 100% โดยมักเกิดจากวินิจฉัยโรคได้ช้าและอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวรุนแรง สำหรับระบบทางเดินอาหารผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงจากภาวะช๊อคเนื่องจากขาดน้ำอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ที่เกิดขึ้นได้ คือการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ซึ่งจะนำไปสู่การมีเลือดออกมากในสมองและถึงแก่ชีวิตในที่สุด

สำหรับผู้ที่สัมผัสเชื้อแต่ยังไม่ติดโรค ก็ควรจะรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว เพิ่มเติมด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อจำนวน 3 ครั้ง แม้จะยังไม่ได้ติดเชื้อโรค แต่เพื่อความปลอดภัยจึงควรป้องกันไว้ก่อน เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าการสัมผัสครั้งนั้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นหรือไม่

แอนแทรกซ์

ดังนั้นหากสงสัยว่าอาจเป็นโรคแอนแทรกช์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากพบว่ามีการติดเชื้อนอกจากจะทำการรักษาโรคโดยยาปฏิชีวนะแล้ว จะต้องป้องกันผู้ป่วยเพื่อลดการติดต่อโรคสู่ผู้อื่น และรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบสวนหาแหล่งเกิดโรคโดยเร็วที่สุด…

 

 

 

 

 

Buy now