ภูมิแพ้ขึ้นตา..ใครว่าไม่ร้ายแรง

กินเจ….มีข้อห้ามอะไรบ้าง
September 30, 2021
ผักกินสุก หรือดิบ…..รู้มั๊ย
October 13, 2021

Closeup Of young girl applying eyedrops or ointment on inflamed or conjunctivitis eye

หากคุณมีอาการคันตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือรู้สึกแสบตาบ่อยๆ นั่นอาจเป็นอาการของ “ภูมิแพ้ขึ้นตา” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย หลายคนจึงคิดว่าเป็นโรคไม่ร้ายแรง เพราะเมื่อเกิดอาการ แค่ทานยาหรือหยอดตา อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะหายไป ทั้งที่แท้จริงแล้วหากขาดการรักษาที่ถูกต้องในระยะยาว อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่คาดไม่ถึงได้

โรคภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้ อาการที่พบคือ คันตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล เยื่อบุตาแดง และตาไวต่อการรับแสง มักเกิดการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุตาขาว โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ
  1. แพ้ตามฤดูกาลอาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตามสภาพอากาศ มักเกิดซ้ำๆ ในช่วงเวลาเดิมของแต่ละเดือน
  2. แพ้สารต่างๆเช่น ไรฝุ่น อาหาร เกสรดอกไม้ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขนตุ๊กตา เครื่องสำอาง ขนสัตว์ เป็นต้น
  3. แพ้คอนแทคเลนส์มักเจอเม็ดขนาดใหญ่ที่บริเวณเยื่อบุตา จึงต้องตรวจพื้นผิวเยื่อบุตาอย่างละเอียด

            อาการภูมิแพ้ที่ตา มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง คือ มีเพียงตาแดง ไปจนถึงอาการอักเสบรุนแรงที่ส่งผลต่อการมองเห็น หากรุนแรงมากเยื่อบุตาจะแดงมากขึ้น นอกจากนี้อาจพบตาแดงเฉพาะที่เยื่อบุตาขาวที่อักเสบ หรือหากเป็นมากจะมีเม็ดนูนๆ ไปกดกระจกตาดำทำให้เป็นแผล ซึ่งรักษาค่อนข้างยาก และบางรายมีการอักเสบลามเข้ามาที่ตาดำซึ่งถือว่ารุนแรงมาก เรียกว่ามีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย ส่งผลให้รักษาได้ยาก และอาจตาบอดได้ ดังนั้นหากมีอาการเป็นเวลานานและใช้ยาที่มีขายตามร้านยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ และสอบถามอาการ รวมถึงอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น การตรวจด้วยกล้องขยาย ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นว่าเส้นเลือดที่ผิวของดวงตาบวม และอาจมีการตรวจหาเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณที่ดวงตามีอาการภูมิแพ้ โดยทำการขูดเบาๆ ที่เยื่อบุตา และนำไปตรวจดูว่ามีเซลล์เม็ดเลือดขาวในนั้นหรือไม่
            สำหรับการรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา จักษุแพทย์ต้องทราบสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงได้ถ้ารู้ว่าตนเองแพ้อะไร แต่ถ้าไม่รู้จะยากในการเลี่ยง และสิ่งที่แพ้บางอย่างก็ยากจะเลี่ยง เช่น อากาศ ไรฝุ่น
2. การรักษาทางจักษุ เพื่อยับยั้งอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อน หากมีอาการภูมิแพ้ขึ้นตา จักษุแพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการอักเสบ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มยาสเตียรอยด์ ข้อดีคือช่วยลดการอักเสบได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน ดังนั้นจักษุแพทย์จึงมักใช้ช่วงแรกในเวลาไม่นาน
– กลุ่มยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ แต่ไม่เท่ากลุ่มยาสเตียรอยด์ ข้อดีคือไม่มีโรคแทรกซ้อน หยอดติดต่อกันได้นาน และทำให้เยื่อบุตาแข็งแรง ทนต่อสิ่งที่แพ้ได้มากขึ้น
            หากเป็นภูมิแพ้ขึ้นตา สิ่งที่ช่วยให้อาการไม่แย่ลงคือ การดูแลดวงตาไม่ให้ตกอยู่ในภาวะตาแห้ง เพราะเมื่อตาแห้งแล้วเกิดการแพ้ จะทำให้คันมากจนอาจเผลอไปขยี้ตา เพิ่มการอักเสบให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่ค่อนข้างควบคุมยาก พ่อแม่ต้องคอยดูแลใกล้ชิด แต่เมื่อเด็กโตขึ้นภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นช่วยให้อาการดีขึ้นนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
Buy now