“ไซบูทรามีน” สารต้องห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน

คนไทย…(ต้อง) ไม่ขาดไอโอดีน
April 26, 2022
เมื่อสงสัยว่าลูกเป็น “ออทิสติก”
April 26, 2022

ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเป็นปัญหาที่หลายท่านพยายามหาทางแก้ไขด้วยการใช้ตัวช่วยมากมาย หนึ่งในตัวช่วยที่นิยมใช้ คือ ยาลดน้ำหนัก เนื่องจากเห็นผลเร็ว แต่นั่นก็มักมีอันตรายด้วยเช่นกัน หากใช้อย่างผิดวิธี จึงเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น  แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามันแฝงมาในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยา ดังที่เป็นข่าวครึกโครมมากมาย

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนัก ที่มีการผสมยาลดความอ้วน ไซบูทรามีน (Sibutramine) ลงไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งยานี้เป็นยาอันตรายที่ได้ถูกถอนทะเบียนยาไปแล้ว คำถามคือไซบูทรามีนคืออะไร  มีผลอย่างไรต่อกลไกการลดน้ำหนัก และอันตรายแค่ไหน ส่งผลอะไรต่อร่างกาย คำตอบทั้งหมดอยู่ที่นี่ครับ

 ไซบูทรามีน จัดเป็นยาลดความอ้วนยอดฮิตชนิดหนึ่ง ที่มักถูกผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ซึ่งไซบูทรามีนเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า Serotonin, Norepinephrine และ Dopamine ส่งผลให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท ทำให้ผู้บริโภคยานี้รู้สึกอิ่มไม่อยากรับประทานอาหาร และกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดเป็นยาลดความอ้วนและเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และขายได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น หากลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จัดเป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์และมีอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามที่กฏหมายกำหนด

ไซบูทรามีน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาและมีการนำมาใช้ครั้งแรกด้วยจุดประสงค์เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า โดยปริมาณที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 10 และ 15 มิลลิกรัม แต่พบผลข้างเคียงระหว่างการรักษาโรคว่ายาตัวนี้สามารถช่วยควบคุมน้ำหนักได้ จึงมีการนำมาใช้ในการลดน้ำหนักโดยแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น แต่หลังจากที่มีการใช้ไประยะหนึ่ง ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้พบการวิจัยเพิ่มเติมเมื่อปี 2553 พบว่า ยาไซบูทรามีน ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ เกิดภาวะความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ถอนยาตัวนี้ออกจากบัญชียา ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยาได้ถอนทะเบียนและการจำหน่ายยาไซบูทรามีน ออกจากท้องตลาดด้วยความสมัครใจ โดยประเทศไทยเองก็ได้ถอนยาตัวนี้ออกจากทะเบียนยาแล้ว  เพราะฉะนั้นยาไซบูทรามีน  จึงถูกห้ามใช้ไปแล้ว

จากกลไกการออกฤทธิ์ของไซบูทรามีน ที่ไปยับยั้งการนำกลับของสารสื่อประสาทในสมอง 2 ตัว คือซีโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่บริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamic area) ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น รวมทั้งสามารถกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ด้วย   ซึ่งส่งผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง คือทำให้ความดันโลหิตขึ้นสูง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า ปวดหัว หนาวสั่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก แน่นหน้าอก และเมื่อร่างกายได้รับไซบูทรามีนสะสมไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานานๆ นอกจากอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และการเกิด stroke ของผู้ใช้ยาได้ รวมทั้งภาวะของโรคตับโรคไตและผลต่อสมองตามมาด้วย ซึ่งความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นหากใช้ยากลุ่มนี้ในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร รวมทั้งเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี

ดังนั้นหากใครก็ตามที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วมีอาการปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก อาจพอจะเดาได้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นมีส่วนประกอบของยาไซบูทรามีน ทางที่ดีที่สุดคือ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักทั้งหลาย ลองมองหาเลขในเครื่องหมาย อย. ซึ่งมีตัวเลขทั้งหมด 13 หลักเรียงกัน แสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. และสามารถตรวจสอบเลข อย. ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยนำเลขที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ไปค้นดูในเวบไซต์ขององค์การอาหารและยา

 

 

Buy now