“โลหะหนัก” อันตรายที่คาดไม่ถึง

 เสี่ยงรับสารพิษ “โลหะหนัก” แค่ไหน
January 15, 2022
5 เทรนด์ยอดฮิตเพื่อความขาวใส
January 20, 2022

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเริ่มเข้ามาแทนที่สิ่งต่างๆ มากขึ้น ทำให้มลภาวะและสารพิษต่างๆ มีอยู่ได้โดยทั่วไป ทั้งในอากาศ น้ำ หรือแม้แต่อาหารที่เรารับประทาน ซึ่งสารพิษที่ปนเปื้อนเหล่านี้แม้จะมีอยู่ในปริมาณน้อย แต่หากสะสมเป็นระยะเวลานานจะยิ่งทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้มากมาย จนอาจทำให้เกิดโรคเรื้อรังได้ นั่นก็คือ “โลหะหนัก”

โลหะหนัก เป็นแร่ธาตุกลุ่มหนึ่งที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำถึง 5 เท่า เช่น แคดเมียม โครเมียม ปรอท และตะกั่ว เป็นต้น  ซึ่งธาตุโลหะหนักเหล่านี้ บางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่บางชนิดก็เป็นพิษต่อร่างกาย โดยในปัจจุบันพบว่าโลหะหนักที่แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยในร่างกาย ซึ่งอาจจะมีอยู่ในระดับที่ไม่ก่อเกิดพิษก็ตาม แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลต่อร่างกายในรูปแบบอื่นๆ ได้หลายอย่าง เพราะโลหะหนักที่สะสมอยู่ในร่างกายจะเข้าไปรบกวนการทำงานของแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งโดยปกติแร่ธาตุเหล่านั้นจะช่วยในการเร่งปฏิกิริยาการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงใช้ในการสร้างฮอร์โมน หากร่างกายมีโลหะหนักสะสมตกค้างจะส่งผลให้ระบบการทำงานต่างๆ หยุดชะงักไป

อันตรายและโทษของโลหะหนัก จำแนกได้หลายประการ ดังนี้

  1. แย่งการทำงานของแร่ธาตุจำเป็น (Trace mineral) ภายในร่างกาย โดยปกติแร่ธาตุจำเป็นที่ร่างกายต้องใช้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการช่วยในการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ให้เป็นปกติ โดยเอนไซม์เหล่านี้จะทำหน้าที่เปลี่ยนสารอาหารในกระบวนการย่อยและดูดซึมให้กลายไปเป็นพลังงาน และยังช่วยในกระบวนการย่อยสลายสารพิษและสารอนุมูลอิสระด้วย ตัวอย่างเช่น แร่ธาตุสังกะสี (Zn) ช่วยประกอบการทำงานของเอนไซม์ย่อยสลายสารพิษ ในกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์ (Alcohol Dehydrogenase) ดังนั้นหากร่างกายมีสารโลหะหนักอยู่ไม่ว่าจะปริมาณมากหรือน้อย ก็จะเกิดการเข้าไปแทนที่ตำแหน่งที่สังกะสีเคยอยู่ในเอนไซม์ ทำให้กระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์เกิดขึ้นได้ช้าลง และเกิดพิษสุราได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เป็นมะเร็ง หรือโรคตับแข็งง่ายขึ้นด้วย
  2. เพิ่มการสร้างอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยปกติแล้วอนุมูลอิสระเป็นของเสียที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการทำงานของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งเมื่อสารอนุมูลอิสระถูกสร้างขึ้นร่างกายจะพยายามควบคุมโดยอาศัยเอนไซม์ย่อยสลายอนุมูลอิสระนั้นๆ หากอนุมูลอิสระเกิดขึ้นมากเกินไป อาจก่อการทำร้ายผนังเซลล์ หรือโครงสร้างหลักทางพันธุกรรมอย่าง DNA ได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีโลหะหนักอยู่ ปฏิกิริยาเคมีจะก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นจากเดิม ในหลายๆ ปฏิกิริยาในร่างกาย เช่น วิตามินซีซึ่งถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่ออยู่ในภาวะที่มีโลหะหนัก ก็จะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นการสร้างอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นเสียเอง
  3. ลดระดับของสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น สารโลหะหนักส่วนใหญ่สามารถจับกับโมเลกุลของสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นได้ เมื่อโลหะหนักเข้าไปจับแน่นกับโมเลกุลของสารต้านอนุมูลอิสระ สารนั้นก็จะไม่สามารถทำงานได้ จนทำให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ตัวอย่างเช่น ส่วนประกอบของเซลล์ร่างกายโดยส่วนใหญ่ของเราประกอบไปด้วยเปปไทด์ แต่เมื่อถูกโจมตีด้วยโลหะหนัก ก็จะทำให้ดีเอ็นเอซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเซลล์เกิดการเสื่อมสภาพและก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
  4. เป็นพิษโดยตรงต่อผนังเซลล์ ทำให้ผนังเซลล์สูญเสียความแข็งแรง จึงทำให้เซลล์แตกและเสียหายได้ง่าย เช่น สารตะกั่ว ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเปราะ จึงเกิดอาการตัวซีด เพราะเม็ดเลือดแดงแตก
  5. ทำให้ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เสี่ยงต่อการตีบตันหรือแตกได้ เนื่องจากโลหะหนักที่ตกค้างบริเวณผนังเซลล์หลอดเลือดจะไปยับยั้งการสร้างสารออกฤทธิ์คลายตัวหลอดเลือดตามธรรมชาติ (Nitric Oxide) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการก่อโรคผนังหลอดเลือดเสื่อม โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
  6. เข้าไปขัดขวางการทำงานของแร่ธาตุในร่างกาย สารโลหะหนักบางชนิด เช่น ตะกั่วจะเข้าไปแทนที่การของแร่ธาตุอย่างแคลเซียมที่อยู่ในกระดูก และมีการขับออกมาจากกระดูก ในช่วงที่มีการปลดปล่อยแคลเซียม เช่น ในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร และในภาวะกระดูกพรุน ก็จะปลดปล่อยตะกั่วออกมาจึงทำให้เกิดอาการตะกั่วเป็นพิษขึ้น
  7. ส่งผลให้สมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยนไป สารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหารบางชนิดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ทำลายแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ ส่งผลให้สมดุลของจุลชีพในลำไส้แปรเปลี่ยนไป และอาจเป็นสาเหตุของภาวะเยื่อบุลำไส้สูญเสียความเป็นผนังกั้นไป หรือที่เรียกว่าภาวะลำไส้รั่ว ซึ่งภาวะนี้ก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายได้หลายอย่าง และเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาการภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ทำให้มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือสมองเสื่อมจากภาวะภูมิต่อต้านตัวเองได้
  8. ทำให้เลือดมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น โดยปกติร่างกายจะทนต่อความเปลี่ยนแปลงของกรด – ด่างได้น้อยมาก จึงมีระบบปรับสมดุลที่รวดเร็วมาก โดยเมื่อร่างกายเป็นกรด จะมีการดึงแคลเซียมที่สะสมไว้ในกระดูกออกมา จึงอาจส่งผลในระยะยาวต่อความหนาแน่นมวลกระดูกได้
  9. ส่งผลร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากสารโลหะหนักสามารถผ่านเข้าสู่รกได้ง่ายและสามารถผ่านเข้าไปในต่อมน้ำนมแม่ได้ จึงส่งผลเสียต่อสมองและระบบประสาทของตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตได้ง่าย
  10. เป็นพิษต่อภูมิต้านทาน สารโลหะหนักเกือบทั้งหมดเป็นพิษต่อภูมิต้านทาน ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ และชักนำไปสู่ภาวะแพ้สารเคมีหลายชนิด Multiple Chemical Sensitivity ได้
  11. ยับยั้งการทำงานของ DNA และ RNA ทำให้เซลล์ต่างๆ หยุดการทำงานหรือ สูญเสียการทำงานไป
  12. ขัดขวางตัวรับฮอร์โมน จึงส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนอินซูลิน จึงอาจก่อให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น โรคหลอดเลือดตีบแข็ง, โรคมะเร็ง, โรคสมองเสื่อม, โรคอัลไซเมอร์,โรคเบาหวาน เป็นต้น

จะเห็นว่าสารพิษและโลหะหนักชนิดต่างๆจะส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของร่างกาย แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม การที่ร่างกายสะสมสารโลหะหนักไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของการเกิดโรคทีละน้อยๆโดยเราไม่รู้ตัว  ดังนั้นการหลีกเลี่ยงสารพิษ ทั้งจากอาหาร น้ำ และอากาศ  ถือเป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันอันตรายจากสารพิษและโลหะหนักได้ทางหนึ่ง  หรือท่านสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสารโลหะหนักที่สะสมในร่างกายและหาวิธีขจัดพิษเหล่านี้ออกจากร่างกาย ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพท่านเอง

 

Buy now