“แอพฯ ติดตามดูแลเด็กสมาธิสั้น”…..ช่วยพ่อแม่อุ่นใจ

ไขมันในเลือดสูง….ในมุมมองแพทย์แผนปัจจุบัน
September 1, 2020
ป่วยบ่อย ป่วยง่าย ร่างกายไม่แข็งแรง “เวชศาสตร์ชะลอวัย” (อาจ) มีคำตอบ
September 9, 2020

 “แอพฯ ติดตามดูแลเด็กสมาธิสั้น”…..ช่วยพ่อแม่อุ่นใจ

 

“โรคสมาธิสั้น” เป็นความผิดปกติของการทำงานของสมอง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ ส่งผลให้การทำงานของสมองส่วนหน้าผิดปกติ ทำให้การควบคุมสมาธิไม่ดี

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายว่า โรคสมาธิสั้นในเด็กนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หลายท่านอาจเข้าใจว่าการใช้สื่อเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ความจริงแล้วการที่เด็กใช้สื่อเหล่านี้มากๆ ไม่ได้มีผลกระทบที่ทำให้สมองผิดปกติจนกระทั่งป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นได้ แต่เด็กที่ใช้สื่อในการเล่นนานๆ อาจทำให้มีความซนและขาดสมาธิ กรณีนี้ถ้ามีการปรับพฤติกรรมดีๆ เด็กเหล่านี้ก็สามารถจะกลับมาเป็นเด็กปกติได้ถ้าเขาไม่ได้ป่วย…เมืองไทยพบเด็กที่มีโรคสมาธิสั้นได้ร้อยละ 5 – 8 ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ แม้ตัวเลขที่พบจะไม่มากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่เด็กไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

การรักษาที่ดีต้องใช้ยาเพื่อเพิ่มสมาธิ ยาไม่ได้ไปกดให้นิ่ง แต่ไปเพิ่มการทำงานของสมองส่วนหน้าให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่เมื่อเป็นโรคทางพันธุกรรมไม่สามารถจะกินยาอย่างเดียวแล้วหายได้ ต้องร่วมกับการดูแลพฤติกรรมที่เหมาะสมของโรงเรียนและครอบครัวด้วย การดูแลที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญที่จะบอกว่าผลการรักษาจะดีขึ้นหรือไม่ และขึ้นอยู่กับการดูแลการพูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจของพ่อแม่

ด้วยตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เด็กที่ป่วยโรคสมาธิสั้นทุกพื้นที่ได้รับการดูแลทั่วถึง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเทคโนโลยีนี้เรียกว่า แอพพลิเคชั่นติดตามดูแลเด็กสมาธิสั้น

พญ.วิมลรัตน์ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากปัจจุบันการเข้าถึงโรคสมาธิสั้นเป็นไปได้ยาก จิตแพทย์เด็กก็มีค่อนข้างน้อย ในบางจังหวัดจิตแพทย์เด็กไม่มีเลยด้วยซ้ำ ส่วนแพทย์สาขาอื่น บางครั้งก็วินิจฉัยและรักษาไม่ได้ ไม่มียา เพราะฉะนั้นข้อมูลในแอพพลิเคชั่นนี้จะบอกให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขเข้าใจในเรื่องของโรคสมาธิสั้น รู้จักโรค รู้จักวิธีรักษา มีทั้งคลิปวิดีโอ มีวิธีการจัดอบรมที่สามารถให้ในพื้นที่นั้นๆ สอนกันเองได้ รวมถึงการพัฒนาจนกระทั่งให้มีฐานข้อมูลของเด็กที่ป่วย เพราะจะได้รู้ว่าในแต่ละจังหวัดที่ได้รับการรักษามีเคสอยู่ในจังหวัดเท่าไหร่ และจะต้องติดตามการรักษาอย่างไร นอกจากนี้ในแอพพลิเคชั่นจะมีจิตแพทย์เด็กมาให้คำแนะนำและตอบคำถามต่างๆ เช่น การปรับยาและการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยส่งเสริมให้บุคลากรของสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น

แอพพลิเคชั่นนี้ มีระบบความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ บุคคลที่จะเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ต้องเป็นผู้ปกครอง พ่อแม่ จึงจะเข้าถึงข้อมูลของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นในแอพพลิเคชั่นนี้ได้ และต้องเป็นแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่เขตการรักษาเด็กที่ป่วยคนนี้เท่านั้น โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเริ่มให้กลุ่มตัวอย่างทดลองใช้ประมาณเดือน เม.ย. 2561 จากนั้นจึงจะสามารถนำมาใช้จริงได้

83598943 – happy,smiling child learning correct pronunciation – panorama with copy space

 

สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองก็คือ ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าลูกเราป่วย หากไม่ยอมรับว่ามันเป็นโรคหนึ่ง ผู้ปกครองก็จะมีความรู้สึกว่า ลูกไม่มีความรับผิดชอบสักที ทำไมดูแลตัวเองไม่ได้สักที ทำให้เด็กคนนั้นถูกบ่น ถูกทำโทษ ถูกเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กคนนั้นควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะการทำงานของสมองผิดปกติ

แอพพลิเคชั่นคงไม่อาจช่วยได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับให้ได้ว่าลูกป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น เพราะถ้าพ่อแม่เข้าใจและยอมรับได้แล้ว จะทำให้เกิดการดูแลลูกอย่างเข้าใจ

 

 

 

https://www.healthchannel.co.th/

https://www.facebook.com/Globalhealthchannel

 

Buy now