ดื่มน้ำน้อย ระวัง “นิ่วต่อมน้ำลาย”

ไขข้อข้องใจ…ไขมันในเลือดสูง
March 30, 2022
“ยาคุมฉุกเฉิน”  ใช้ยังไงให้ปลอดภัย
April 10, 2022

หากพูดถึง “โรคนิ่ว” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ บางคนอาจนึกถึงโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือนิ่วในไต แต่ทราบหรือไม่ว่า ความจริงแล้ว “นิ่ว” ยังสามารถเกิดขึ้นที่บริเวณต่อมน้ำลายได้ด้วยเช่นกัน !

“ต่อมน้ำลาย” (Salivary Gland) คือส่วนที่ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำลาย (Saliva) ซึ่งต่อมน้ำลายของคนเรามีอยู่ 3 คู่ คือ ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual Gland), ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรล่าง (Submandibulary Gland) และต่อมน้ำลายข้างกกหู (Parotid Gland)

นิ่วในต่อมน้ำลาย หรือ ท่อน้ำลาย คือการสะสมของหินปูนในน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม จึงทำให้น้ำลายมีการไหลออกมาได้น้อยลง โรคนิ่วต่อมน้ำลายส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณต่อมน้ำลายใต้คางทั้ง 2 ข้าง ส่วนต่อมน้ำลายบริเวณอื่นๆ เช่น ข้างกกหู ก็จะมีพบบ้างแต่เป็นส่วนน้อย

โรคนิ่วในต่อมน้ำลาย ถือว่าเป็นโรคที่ไม่อันตราย เพราะแค่มีก้อนนิ่วอยู่เฉยๆ จึงไม่ส่งผลอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ถือว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งที่ต้องทำการรักษา เพราะโรคนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้ เช่น มีการอักเสบ, เป็นฝี, เป็นหนองได้

สาเหตุหลักของการเกิดนิ่วต่อมน้ำลาย คือ ดื่มน้ำน้อย มีภาวะขาดน้ำ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายขาดน้ำก็จะส่งผลทำให้น้ำลายข้นเหนียว มีโอกาสที่จะไหลช้า และทำให้เกิดเป็นนิ่วได้ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คือคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง หรือ คนที่ทานยาประจำบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ก็จะส่งผลทำให้น้ำลายหลั่งได้น้อย, อายุที่เพิ่มมากขึ้นระบบการทำงานของต่อมน้ำลายก็น้อยลง หรือบางคนที่เคยฉายแสง ได้รับรังสีของการฉายแสงมาก็จะทำให้น้ำลายแห้งได้

ถึงแม้ว่านิ่วในต่อมน้ำลายจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่อย่างไรก็ตามต้องมีวิธีการรักษาตามขั้นตอน  โดยการรักษาโรคนิ่วต่อมน้ำลาย สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. 1. วิธีการนวดคลึง คือ เมื่อตรวจพบว่ามีก้อนนิ่วเกิดขึ้นบริเวณต่อมน้ำลาย และก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก แพทย์ก็จะใช้วิธีการนวดคลึงให้ก้อนนิ่วหลุดออก
  2. 2. วิธีการผ่าตัด คือ จะผ่าตัดที่ท่อน้ำลายโดยตรง หรือผ่าตัดที่ต่อมน้ำลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่วที่เป็น ส่วนระยะเวลาในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับว่าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มากน้อยแค่ไหน แต่จะต้องพักฟื้น 2 – 3 วัน จึงจะกลับบ้านได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาทำการตัดไหม

ถึงแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดนิ่วไปแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก เพียงแต่มันจะไม่ได้เกิดที่จุดเดิม แต่จะไปเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นๆ แทน แต่เราก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ ด้วยการดูแลตัวเอง ดื่มน้ำให้มากๆ โดยดื่มประมาณ 1.5 – 2 ลิตรต่อวัน ต้องรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันให้ดี ที่สำคัญหากพบว่าตัวเองมีความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพเพียงเล็กน้อยก็ควรที่จะรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรีบทำการรักษาโดยทันที

100613272 – salivary gland structure. histology of salivary glands. structure and cellular composition of mature salivary glands.

 

Buy now