“เลเซอร์” กับการรักษา “โรคผิวหนัง”

“ทิชชู่เปียก” สิ่งจำเป็นยุค New Normal
April 10, 2022
“ข้าวน้ำตาลต่ำ” ทางเลือกเพื่อสุขภาพ
April 10, 2022

ปัจจุบันวิธีการนำเลเซอร์มารักษาโรคผิวหนังและเสริมความงาม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยประเทศที่โดดเด่นด้านการรักษาด้วยเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี อิสราเอล เกาหลีและญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทยนั้น แพทย์ผิวหนังของไทยได้นำวิธีการรักษาด้านเลเซอร์เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันแพทย์เฉพาะทางด้านเลเซอร์ผิวหนังของไทยได้รับการยอมรับความสามารถจากทั่วโลก โดยเห็นได้จากงานวิจัยด้านเลเซอร์ผิวหนังของแพทย์ผิวหนังไทยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบชนิดของเลเซอร์ที่ได้ผลดีกับการรักษาแผลหลุมสิวในคนเอเชีย ทั้งนี้วิทยาการเครื่องมือโดยส่วนใหญ่ ถูกคิดค้นมาจากประเทศฝั่งตะวันตก แต่เมื่อนำมาใช้กับคนเอเชียก็ไม่สามารถนำวิธีการหรือหลักการรักษามาใช้ได้ 100% เพราะเครื่องมือบางอย่างไม่เหมาะสมกับผิวของคนไทยหรือผิวของคนเอเชีย ซึ่งบางครั้งเมื่อนำมาใช้แล้ว อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น รอยคล้ำ ซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

 

และงานวิจัยเรื่องของการใช้เลเซอร์รักษารอยนูน ซึ่งโดยปกติชาวตะวันตกเวลาเป็นแผล จะไม่ค่อยเป็นรอยนูนหรือเป็นคีลอยด์ แต่ในคนไทยหรือคนเอเชียหรือคนผิวคล้ำ เวลาเป็นแผลมักจะนูนตามมา ซึ่งในอดีตการรักษาแผลนูนที่ได้ผลดีที่สุด คือการฉีดยาสเตียรอยด์โดยการใช้เข็มฉีดยาเข้าไป เพื่อให้ยาสเตียรอยด์ ไปทำปฎิกริยาให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงแผลเป็นนั้นฝ่อ หรือลดการอักเสบของแผลเป็น แต่ข้อเสียของการฉีดยาสเตียรอยด์นั้นมีหลายอย่าง เช่น จะเจ็บบริเวณแผลเป็น เพราะต้องปักเข็มทุกๆ 1 – 2 เซนติเมตร แล้วเดินยาไปเรื่อยๆ และต้องฉีดเดือนละครั้งติดต่อกันหลายเดือน แผลเป็นพวกนี้ส่วนใหญ่มันจะแข็ง เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินยามันต้องออกแรงดันกดเข้าไป มันยิ่งจะเจ็บจากคมเข็มแล้วยังเจ็บจากการถูกดันยาเข้าไปอีก

เราสามารถใช้เลเซอร์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า Fractional Laser ซึ่งเลเซอร์นี้จะใช้เลนส์พิเศษในการบีบอัดลำแสงของเลเซอร์ให้เป็นจุดเล็กๆ เปรียบว่านำแสงเลเซอร์เจาะรูเล็กๆ ที่ผิวหนัง และก่อนที่จะทำการรักษาด้วยเลเซอร์ จะต้องทายาชา แล้วยิงเลเซอร์ไปที่บริเวณแผลเป็น รูเล็กๆพวกนี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 150 – 200 ไมครอน ซึ่งเป็น 1 ในพันของ 0.1 มิลลิเมตร ข้อดีของการใช้เลเซอร์ชนิดนี้ คือเจ็บน้อยและไม่มีผลข้างเคียงของสเตียรอยด์เกิดขึ้น

การทำเลเซอร์ผิวหนังสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะแผล คือ 1. ทำแล้วมีแผล และ 2.ทำแล้วไม่มีแผล คำว่า ทำแล้วมีแผล หมายถึงพวกที่มีสะเก็ด ต้องรอประมาณ 7 – 10 วัน แผลหรือสะเก็ดจึงจะหลุด ส่วนประเภทที่ทำแล้วไม่มีแผล ระหว่างทำจะแค่รู้สึกอุ่นๆ แปล๊บๆ เท่านั้น เสร็จแล้วก็ไม่มีสะเก็ด ไม่มีบาดแผล อาจเห็นเพียงรอยแดงเรื่อๆ และไม่ต้องทาครีมสมานแผล

นอกจากนี้จะแบ่งตามลักษณะแผลแล้ว เลเซอร์ผิวหนังยังสามารถแบ่งตามชนิดของกลุ่มโรคได้เป็น 5  กลุ่มคือ

  1. เลเซอร์ที่ใช้พลังงานความร้อนไปทำลายเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น กระเนื้อ ไฝธรรมดา หรือขี้แมลงวัน
  2. เลเซอร์ที่ไปทำลายเม็ดสี หรือสีผิวที่ผิดปกติ เช่น คนที่เป็นกระแดด กระลึก หรือเป็นปานสีเทาสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า ปานโอตะ ซึ่งเลเซอร์กลุ่มนี้ยังสามารถนำไปใช้ไปลบรอยสัก ยิงรอยสักได้อีกด้วย
  3. เลเซอร์ที่รักษาเส้นเลือดที่ผิดปกติ การที่คนเรามีเส้นเลือดที่ผิวที่ผิดปกติ มันทำให้เราเห็นผิวบริเวณนั้นนูนหรือแดงขึ้น หรือที่เราเห็นเป็นปานแดงหรือบางคนที่เป็นปานสตรอเบอร์รี่ที่เป็นก้อนแดงๆ นูนขึ้นมา พวกนี้เราจะใช้เลเซอร์รักษาการผิดปกติของหลอดเลือดขึ้นมารักษา เลเซอร์กลุ่มนี้ ก็สามารถรักษาเส้นเลือดฝอยที่หน้า หรือบางคนใช้เลเซอร์กลุ่มนี้รักษาแผลเป็นนูน ไปทำลายท่อน้ำเลี้ยงของแผลเป็นนูน ให้แผลเป็นนูนฝ่อลงไป
  4. เลเซอร์กำจัดขน ด้วยวิทยาการของเลเซอร์ สามารถรักษาไปทั่วทั้งบริเวณผิว แล้วแสงจะลงไปที่รากขนของมันเอง ไม่ต้องจี้ทีละเส้น เลเซอร์กลุ่มนี้สามารถทำให้จำนวนเส้นขนลดลงไปในช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวหลังการยิงติดต่อกันหลายๆครั้ง
  5. เลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดไม่มีแผล หรือเลเซอร์กระตุ้นคอลลาเจน กลุ่มนี้นำไปใช้ในการรักษาริ้วรอย หรือกระชับรูขุมขนเป็นแบบที่ไม่มีแผล หลักการคือให้แสงลงไปที่หนังแท้ส่วนต้น เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนใหม่ เหมาะกับการลบริ้วรอยและรักษาแผลหลุมตื้นๆ

“การรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือมีแพทย์ผู้รักษาถึง 95% ไม่ใช่แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่รักษาเลเซอร์ผิวหนังโดยเฉพาะ ดังนั้นผู้ที่จะรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังจะต้องใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบพิจารณาสถานพยาบาลและคลินิก ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาให้ดีเสียก่อน”

 

 

Buy now