เมื่อสงสัยว่าลูกเป็น “ออทิสติก”

“ไซบูทรามีน” สารต้องห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน
April 26, 2022
“ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” คืออะไร?
April 29, 2022

 

“ออทิสติก” คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทั้งในด้านโครงสร้าง หน้าที่การทำงาน และสารเคมีในสมอง ส่งผลให้สมองเกิดอาการผิดปกติในเด็ก ได้แก่ ทักษะภาษาล่าช้า ทักษะสังคมล่าช้ากว่าวัย เด็กบางคนตรวจพบความผิดปกติหลังจากอายุ 1 ขวบครึ่ง –  2 ขวบก็มี เช่น จากที่เคยพูดได้คล่อง กลับหยุดพูดไป เป็นต้น

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น ปัจจัยด้านพันธุกรรม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พ่อหรือแม่มีอายุมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

พ่อแม่หลายๆ คนที่เกิดความสงสัยว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ มักคิดไปก่อนว่า “ลูกคงไม่เป็น แค่พูดช้าเฉยๆ เดี๋ยวก็พูดได้เอง รอดูไปก่อน” ซึ่งความคิดเช่นนี้อาจทำให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ล่าช้า ส่งผลเสียต่อการรักษาเด็กออทิสติก

ในปัจจุบันพบว่า กลุ่มเด็กออทิสติกที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะแรก (Early Detection) และได้รับการรักษากระตุ้นพัฒนาการอย่างทันท่วงทีนั้น มีผลการรักษาที่ดีกว่า และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เร็วกว่ากลุ่มเด็กออทิสติกที่มารับการรักษาล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม อาจขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ระดับสติปัญญาของเด็ก โรคที่พบร่วมอื่นๆ เป็นต้น

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น หากลูกๆ มีอาการเหล่านี้เพียงแค่ บางข้อ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาน้องมาประเมิน เนื่องจากมีความเสี่ยงเป็นโรคออทิสติก

  1. สัญญาณเตือนในเด็กทารกและเด็กวัยอนุบาล

อายุ 6 เดือน             สบตาน้อย ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า หรือไม่ยิ้มตอบโต้ผู้ใหญ่

อายุ 9 เดือน             ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่ยิ้ม

อายุ 12 เดือน           ยังพูดแบบไม่เป็นภาษา (Bubbling) เช่น ปาปา ดา กา

ยังไม่มีภาษาท่าทาง เช่น ชี้นิ้ว ท่าเอื้อมหยิบของ โบกมือลา เป็นต้น

เรียกชื่อ แล้วไม่ค่อยหันตามเสียงเรียก

อายุ 16 เดือน           ยังไม่พูดคำที่มีความหมาย เช่น หมา

อายุ 24 เดือน           ยังไม่พูดคำที่มีความหมายหรือวลีสั้นๆ เช่น กินข้าว ไปเที่ยว จะเอา

หรือการสูญเสียทักษะบางอย่างที่เด็กเคยทำได้แล้ว เช่น เคยพูดได้แล้วหยุดพูดไป หรือภาษาท่าทางต่างๆ หายไป

  1. สัญญาณเตือนในเด็กทุกวัย
  • หลีกเลี่ยงการสบตา ชอบอยู่คนเดียวมากกว่าเข้ากลุ่มกับเพื่อน (เด็กบางคนมักไปหลบตามห้องสมุด หลีกเลี่ยงการเข้ากิจกรรมที่มีเพื่อนเยอะๆ)
  • ไม่เข้าใจสีหน้า / อารมณ์ และความรู้สึกของคนอื่น
  • มีภาษาที่ล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน (สังเกตได้จากความสามารถล่าช้า เมื่อเทียบกับเพื่อนในชั้นเรียน การเรียงประโยคอาจสับสน ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เป็นต้น)
  • พูดทวนประโยคซ้ำไปมาตามผู้ใหญ่ เช่น ผู้ปกครองถามว่า “ไปไหนมา” น้องตอบว่า “ไปไหนมา”
  • หงุดหงิดมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงลำดับกิจวัตรประจำวันเพียงเล็กน้อย เช่น ไม่ยอมใส่เสื้อผ้าหากไม่เรียงตามลำดับแบบเดิมที่เคยใส่ ต้องใส่เสื้อก่อนใส่กางเกงทุกครั้ง เป็นต้น
  • มีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบหมกมุ่น ซ้ำๆ และจำกัด และมักคุยแต่เรื่องที่ตนเองสนใจเท่านั้น (เช่น สนใจของหมุนๆ จ้องพัดลม จ้องล้อรถ สนใจรถยนต์ รู้รายละเอียดทุกยี่ห้อ เป็นต้น)
  • ทำพฤติกรรม/ท่าทางซ้ำๆ สะบัดมือ หมุนตัว โยกตัว
  • มีการรับรู้ด้านประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ (มากเกินไป/น้อยเกินไป) เช่น ไวต่อเสียง รสชาติ แสง มากเกินปกติ เป็นต้น

หากพบว่าเด็กๆ มีพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้เขาได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

Buy now