เทคโนโลยีอาหารตอบโจทย์คนไทย..เทรนด์นี้ไม่มี OUT

Universal Design บ้านปลอดภัยเพื่อคนทุกวัยในครอบครัว
March 7, 2022
ตรวจหามะเร็งแบบเจาะลึกระดับ DNA
March 11, 2022

Fruits and vegetables on wooden background

You are what you eat หรือ กินอย่างไรก็ได้อย่างนั้น” ยังคงใช้ได้เสมอไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี อย่างในอดีตปัญหาด้านโภชนาการที่สำคัญของประเทศไทยคือการขาดสารอาหาร ทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก และไอโอดีน แต่ปัจจุบันเมื่อคนเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภค ปัญหาโภชนาการที่พบก็คือ การบริโภคเกินความจำเป็นส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ

สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย หรือ FoSTAT ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาหารที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ และมองว่านวัตกรรมอาหารจะเข้ามาช่วยให้คนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และบุคลากร เพื่อให้ตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารมีความสำคัญและเป็นเรื่องใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก ปัจจุบันคนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และไม่ทำให้อ้วน ในขณะเดียวกันผู้บริโภคเองก็ต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย นวัตกรรมอาหารจึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการส่วนนี้ได้ ทั้งด้านความรู้ความเข้าใจเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต การรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ควบคู่ไปกับการใส่ใจเรื่องรสชาติ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับเรื่องความอร่อยเป็นหลัก เทรนด์อาหารที่กำลังมาแรงและน่าจับตามองก็เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ได้แก่

 

  1. อาหารสำหรับกลุ่มคนรักการออกกำลังกาย

โดยเลือกกินอาหารที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เช่น เสริมโปรตีน หรืออาหารที่ได้รับการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นตัวอย่างการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพ

 

  1. อาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ และพบว่าผู้สูงอายุหลายท่านกินอาหารไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ สาเหตุจากการเบื่ออาหาร กินได้น้อยลง จนอาจขาดสารอาหารบางอย่างโดยไม่รู้ตัว ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรดูแลและเลือกอาหารที่เหมาะสม รวมทั้งเสริมด้วยอาหารอื่นๆ ที่ทานง่ายเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้ครบถ้วน

  1. อาหารสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค

ที่ต้องควบคุมและดูแลเรื่องของอาหารเป็นพิเศษ ไม่สามารถที่จะเลือกรับประทานอาหารทั่วไปๆ ได้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอ รวมทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละโรค

 

ความท้าทายสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารของไทย คือ ยังขาดเรื่องนวัตกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านกระบวนการผลิต การพัฒนาสูตรอาหารใหม่ๆ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ในรูปลักษณ์ใหม่ๆ เพื่อไปต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต

 

สำหรับในปัจจุบันที่คนเมืองมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ และต้องการความสะดวกรวดเร็ว อาหารสำเร็จรูปจึงเป็นตัวเลือกที่เป็นที่นิยมและเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ แต่คำถามมักเกิดขึ้นว่าเราควรจะเลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูปอย่างไร ให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ผศ.ดร.อาณดี จึงทิ้งท้ายด้วยการแนะนำ 3 เทคนิคง่ายๆ ในการเลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูป ดังนี้

  1. สังเกต “เครื่องหมาย อย.” ที่แสดงถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ ว่าสามารถรับประทานได้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องระมัดระวังหากพบว่าอาหารบางอย่างกล่าวอ้างสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง เพราะเครื่องหมาย อย. ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างไว้ทุกประการ
  2. อ่านฉลากโภชนาการ และ/หรือฉลากโภชนาการ หวาน มัน เค็ม เพื่อดูข้อมูลโภชนาการทั้งพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาล ว่าอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งดูข้อมูลเรื่องส่วนประกอบหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีโภชนาการเหมาะสมซึ่งข้อมูลโภชนาการหลักๆ ที่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและพึงระวังไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน ได้แก่
พลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี/วัน (สำหรับผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป – Thai RDI)
โซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
ไขมัน ไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน
น้ำตาล ไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน

 

 

  1. มองการบริโภคในภาพรวมให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน และมีภาวะสมดุล ปัจจุบันคนไทยกินผักและผลไม้น้อยเมื่อเทียบอัตราส่วนในแต่ละวัน และถึงแม้ว่าเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง ก็ไม่ควรงดไขมันโดยสิ้นเชิง เพราะวิตามินบางชนิด เช่น A, D, E, K ต้องใช้ไขมันในการละลายและดูดซึม ไขมันจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

Buy now