ยา “ทรามาดอล” ใช้ผิดอาจถึงตาย

สูงวัยเลือกกินอย่างไร ..ให้ห่างไกลโรค
January 28, 2022
เทคนิคเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดี มีความสุข
February 1, 2022

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์เตือนภัยถึงอันตรายของ “ยาทรามาดอล” หรือที่วัยรุ่นไทยนิยมเรียกติดปากว่า “เขียว – เหลือง” ตามลักษณะสีแคปซูลของยา จึงมีข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วยาตัวนี้มีอันตรายหรือไม่ อย่างไร

ยาตัวนี้จัดเป็นยาอันตราย ในการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องอยู่ในการควบคุม โดยผู้ผลิตต้องรายงานมาทาง อย. ในระบบออนไลน์ และกำหนดให้ร้านขายยาสามารถซื้อยาตัวดังกล่าวได้ครั้งละ 1,000 เม็ดต่อเดือน และจ่ายยาให้ผู้ซื้อครั้งละไม่เกิน 30 เม็ด ซึ่งจะต้องจ่ายยาตามอาการบ่งชี้ และต้องไม่ขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี ที่สำคัญต้องทำบัญชีการขายยาตัวนี้ด้วย

ฉะนั้นด้วยการลงระบบออนไลน์สาธารณสุขทุกจังหวัดจะรู้ว่าร้านไหนซื้อยาไปเท่าไร กรณีการขายยาจะขายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น หากพบไปขายในอินเตอร์เน็ต ตลาดนัด หาบเร่แผงลอยถือว่าผิดหมด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นั่นก็เพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม กดระบบประสาท

ยาทรามาดอล เป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ที่นำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง กลไกการออกฤทธิ์ของยาทรามาดอลจะมีอยู่ 2 อย่างที่สำคัญคือ ออกฤทธิ์กระตุ้นมิวรีเซปเตอร์ (µ-receptor) ซึ่งเมื่อกระตุ้นแล้วจะมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด รวมทั้งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาท และมีผลทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุข (Euphoria) ซึ่งการออกฤทธิ์นี้จะเหมือนกับการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีน แต่ยาทรามาดอลจะมีความแรงน้อยกว่าประมาณ 10 เท่า อย่างไรก็ตาม แม้ยาทรามาดอลจะออกฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีนถึง 10 เท่า แต่ก็ยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ดีเนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์อีกอย่างหนึ่งมาช่วยเสริมฤทธิ์ คือ ฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้เมื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้นที่ไขสันหลังจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

การเพิ่มขึ้นของสารเซโรโทนิน (Serotonin) จากการรับประทานยาเกินขนาด เช่น การรับประทานยาครั้งละ 3 – 4 เม็ด อาจส่งผลให้เกิดอาการจากเซโรโทนินมากเกิน ที่เรียกว่า “Serotonin syndrome” และอาจเกิดอาการในกลุ่มที่เรียกว่า Extrapyramidal เช่น กลืนลำบาก มือสั่น มีไข้ กล้ามเนื้อเกร็งตัวอย่างมาก หรืออาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน ประสาทหลอน และหวาดระแวง ส่วนการเพิ่มขึ้นของสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) นั้น อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ใจสั่น กระตุ้นระบบประสาทและทำให้ชักได้ ซึ่งอาการที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดยาที่รับประทาน การใช้ร่วมกับยาหรือสารอื่นที่อาจเพิ่มหรือลดการออกฤทธิ์ของยา การทำงานของไต และพันธุกรรมของการทำลายยาทรามาดอล

สำหรับผลข้างเคียงของยาทรามาดอล พบได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน จนถึงรุนแรงระดับนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ชักกดศูนย์การหายใจของร่างกาย ซึ่งจะมีอาการแสดงในหลายๆ ระบบของร่างกายพร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูงและประสาทหลอน ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

ส่วนการนำยาทรามาดอลไปใช้ในทางที่ผิด ใช้ครั้งละหลายๆ เม็ดต่อเนื่องกัน หรือนำไปใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทได้ เช่น ทำให้รู้สึกสบายและเคลิ้มสุข จนเกิดอาการติดยา และถ้าใช้ยามากเกินไป ตัวยาก็จะไปกดระบบประสาทอย่างมากจนอาจทำให้ไม่รู้สึกตัว เป็นอันตรายอย่างมากอาจถึงแก่ชีวิต ดังนั้นการใช้ยานี้ในขนาดที่ถูกต้องเพื่อลดอาการปวด ยาทรามาดอลถือเป็นยาที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ถ้ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดอาจทำให้ผู้ใช้ยาในทางที่ผิดเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

Buy now