“ยา” กับ “ผู้สูงอายุ” อันตราย..อยู่ใกล้แค่เอื้อม

3 สัญญานเตือน เมื่อไหร่ต้องมาพบจิตแพทย์ ???
August 21, 2020
พลังบุญทิพยร่วมสร้าง พลังบุญมหาทานมอบถุงยังชีพให้แก่ชาวบ้านตำบลทุ่งลุยลาย
August 21, 2020

 “ยา” กับ “ผู้สูงอายุ” อันตราย..อยู่ใกล้แค่เอื้อม

 

เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้มีภาวะความเจ็บป่วยมากขึ้นตามไปด้วย ผู้สูงอายุ จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการใช้ยามากกว่าบุคคลกลุ่มอื่น อีกทั้งยังมีโอกาสในการใช้ยารักษาโรคหลายชนิดในเวลาเดียวกันด้วย

สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากสำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุก็คือ การเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา หรือที่เรียกว่า ยาตีกัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายคนวัยนี้ ยังส่งผลให้การดูดซึมยา การกระจายยา การเปลี่ยนแปลงยา และการกำจัดยาออกจากร่างกาย ไม่ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว ทำให้มีความเสี่ยงในการใช้ยามากกว่า นอกจากนี้ปัญหาที่อาจเกิดทางอ้อม เช่น อ่านฉลากยาผิด อ่านไม่ครบถ้วน ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของสายตาในวัยสูงอายุ  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจในการใช้ยาของผู้ป่วยกลุ่มนี้

กลุ่มยาที่ผู้สูงอายุใช้บ่อย

  1. ยารักษาโรคประจำตัวเช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาลดไขมัน เป็นต้น
  2. ยานอนหลับ ยาคลายเครียดวัยสูงอายุมักพบปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก ตื่นบ่อยเวลากลางคืนทำให้เกิดภาวะเครียด ทำให้ผู้สูงอายุหันมาพึ่งพายากลุ่มนี้มากขึ้น
  3. ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้ออาการปวดเมื่อยอันเนื่องมาจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ท่าทางที่ผิดวิธี หรือจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวดเมื่อยมากขึ้น แต่ถ้าใช้เกินความจำเป็นก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
  4. วิตามินและอาหารเสริมเมื่ออายุมากขึ้น คนส่วนใหญ่มักมองหาวิตามิ หรืออาหารเสริมบำรุงร่างกาย จึงทำให้ผู้สูงอายุมีการใช้วิตามินหรืออาหารเสริมมากขึ้น
  5. สมุนไพรปัจจุบันยากลุ่มสมุนไพรมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางกลุ่มเลี่ยงการใช้ยาเคมีมาใช้กลุ่มยาสมุนไพร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ มักใช้ยาในกลุ่มนี้มากขึ้น

ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ

  1. การได้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกันทำให้ยามีปฏิกิริยาต่อกันหรือยาตีกัน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ถ้าได้รับยาลดความดันโลหิตชนิดขับปัสสาวะ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การรักษาเบาหวานจึงมักไม่ได้ผล
  2. การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในการออกฤทธิ์และกำจัดยาออกจากร่างกายเนื่องจากผู้สูงอายุมีสัดส่วนของไขมันเพิ่มขึ้นและน้ำในร่างกายลดลงทำให้ยาหลายชนิดมีระดับยาสูงขึ้นในร่างกาย อาจเกิดพิษได้ง่ายและยาออกฤทธิ์นานกว่าปกติ นอกจากนี้การที่ตับมีขนาดเล็กลง เลือดมาเลี้ยงลดลง โอกาสที่จะมียาตกค้างจึงสูง การกำจัดยาทางไต ทำได้ลดลงเนื่องจากไตทำงานลดลงตามอายุ ทำให้ขับยาออกจากร่างกายไม่ได้
  3. พฤติกรรมและทัศนคติของผู้สูงอายุต่อยาเช่น การซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดตามข้อมักซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนมารับประทาน เพราะเข้าใจว่าผลิตจากสมุนไพรจึงน่าจะปลอดภัย แต่ยากลุ่มนี้มักมีการผสมยากลุ่มสเตียรอยด์ จึงส่งผลเสียในระยะยาว เช่น กระดูกพรุน ต่อมหมวกไตฝ่อ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  4. การไม่ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ชอบมาพบแพทย์ เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านร่างกาย เช่น มีอาการเดินลำบากจากอาการปวดทางด้านจิตใจ เช่น ไม่อยากรบกวนให้ผู้ดูแลพามาโรงพยาบาล รวมถึงข้อจำกัดทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การคมนาคมไม่สะดวก ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ขาดการติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ญาติผู้ดูแลก็มีแนวโน้มไม่อยากที่จะลำบากพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ จึงพบได้บ่อยว่าญาติมาขอรับยาเดิมจากแพทย์ โดยไม่พาผู้ป่วยมารับการติดตาม อาจทำให้ยาเหล่านี้จะสะสมจนเกิดเป็นพิษได้โดยไม่รู้ตัว
  5. การเก็บสะสมยาผลจากการที่ผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังและได้รับยาหลายชนิดผู้ป่วยบางรายอาจจะเก็บสะสมยาไว้ โดยไม่ได้รับประทานหรือรับประทานไม่หมด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็จะเลือกรับประทานยาจากที่สะสมไว้ ชนิดที่เคยรับประทานได้ผล โดยยานั้นอาจจะหมดอายุแล้วหรือมีข้อห้ามใช้ยานั้นเกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ยาในผู้สูงอายุ คือ การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง (เท่านั้น) พบแพทย์ตามนัดเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ใช้ยาเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ และก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ขอปฎิบัติง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็เป็นเกราะป้องกัน “ยา” อันตรายที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมของ “ผู้สูงอายุ” ได้แล้ว

 

https://www.healthchannel.co.th/

https://www.facebook.com/Globalhealthchannel

 

Buy now