มหัศจรรย์ “ปัสสาวะ”

สารพันปัญหาฝ้า………ของคุณสาวๆ
October 21, 2021
กินยาไปนานๆ ตับ, ไต พังกันพอดี……อันนี้จริงแค่ไหน?
October 27, 2021

หากพูดถึง “น้ำปัสสาวะ” หลายคนจะนึกถึงของเสียที่ขับออกจากร่างกาย เพราะนอกจากจะมีกลิ่นเหม็นแล้ว ยังปนเปื้อนไปด้วยเชื้อโรค แต่ความจริงแล้วน้ำปัสสาวะก็มีประโยชน์เหมือนกัน คือ สามารถนำมาใช้ในทางการเกษตรเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้เป็นอย่างดี ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

น้ำปัสสาวะของมนุษย์มีสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์ต่อพืช เพราะประกอบด้วยน้ำ ร้อยละ 95   ยูเรีย ร้อยละ 2 ที่เหลือเป็นน้ำตาล โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียม และแมกนีเซียม น้ำปัสสาวะที่มนุษย์ขับถ่ายและทิ้งในแต่ละวันนั้นสมารถเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ทุกชนิด โดยปัสสาวะที่ออกมาใหม่จะมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ เมื่อเวลาผ่านไป 5 – 6 ชั่วโมง ปัสสาวะจะเริ่มส่งกลิ่น เนื่องจากจุลินทรีย์ไปสลายยูเรียให้เป็นแอมโมเนียก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นไนเตรท ซึ่งอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน และควรเป็นน้ำปัสสาวะที่ถูกแยกออกจากอุจจาระ เพราะจะปนเปื้อนแบคทีเรีย ไวรัส และหนอนพยาธิ ที่เป็นอันตรายต่อพืช

การนำปัสสาวะมาใช้ประโยชน์สามารถทำได้ทั้งในระดับชุมชนและครัวเรือน ซึ่งวิธีการดำเนินงานคือ

ระดับชุมชน จะแยกปัสสาวะโดยใช้ “โถแยกปัสสาวะ” โดยเก็บรวบรวมมาจากหลายๆ บ้าน เป็นปัสสาวะที่ผสมกับน้ำแล้วซึ่งมีค่าความเป็นด่างอย่างน้อย 8.8 และมีไนโตรเจนเข้มข้นอย่างน้อย 1 กรัมต่อลิตร ให้เก็บกักปัสสาวะผสมนั้นไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อโรคที่อาจมีการปนเปื้อนในปัสสาวะได้ถูกทำลายหมดแล้ว จึงนำมาใช้ทำปุ๋ย 

ระดับครัวเรือน สามารถนำน้ำปัสสาวะผสมนั้นไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืชผักทุกชนิดได้โดยไม่จำเป็นต้องเก็บกักก่อนใช้ สามารถต่อท่อตรงไปลงยังแปลงปลูกพืชผักได้ การเก็บปัสสาวะที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรผสมน้ำปัสสาวะกับน้ำ เพราะความเข้มข้นของปัสสาวะที่เป็นกรดหรือด่างจะทำลายเชื้อโรค และป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ยุง

การใช้น้ำปัสสาวะมาเป็นปุ๋ยสามารถทำได้หลายวิธี

  • เจือจางด้วยนํ้าใช้รดพืช โดยนําปัสสาวะไปใช้รดต้นไม้ จะไม่ใช้ปัสสาวะความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะอาจจะทําให้พืชตาย เนื่องจากมีความเข้มข้นมากเกินไป ควรเจือจางน้ำปัสสาวะกับน้ำในสัดส่วน ปัสสาวะ 1 ส่วน ต่อนํ้า 8 ส่วน นำไปรดต้นไม้  1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • นำน้ำปัสสาวะไปหมักทำปุ๋ย ควรเทน้ำปัสสาวะลงในถังหมักที่มีวัสดุที่มีคาร์บอนสูง เช่น ใบไม้แห้ง เศษหญ้า ขี้เลื่อย เศษกิ่งไม้ เศษกล่องกระดาษลูกฟูก น้ำปัสสาวะจะช่วยย่อยสลายให้อินทรียวัตถุเหล่านี้กลายเป็นปุ๋ยหมักเร็วขึ้น นำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักในแปลงพืชผักได้ดี

 

แนวคิดดังกล่าว นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตภาคการเกษตร และลดปริมาณสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศอีกด้วย

 

Buy now