“ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” คืออะไร?

เมื่อสงสัยว่าลูกเป็น “ออทิสติก”
April 26, 2022
ต้องระวัง!….เครื่องสำอางปลอม
May 3, 2022

ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาการได้ยินหลายล้านคน และหากปัญหานี้ไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข คาดว่าในอีกไม่กี่ปี จะพบว่าในคนไทยทุก 10 คน มีปัญหาการได้ยินเกินครึ่งเลยทีเดียว

สำหรับปัญหาการสูญเสียการได้ยิน มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่เรียกว่า “หูตึง” ไปจนถึงระดับรุนแรงที่เรียกว่า “หูหนวก” ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเพราะไม่สามารถได้ยินและสื่อสารกับคนรอบข้างได้นั่นเอง

“การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” คือหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ที่มีอาการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงบกพร่องขั้นรุนแรง ไปจนถึงสูญเสียการได้โดยสมบูรณ์ ช่วยให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดรักษากลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่สูญเสียการได้ยินทุกรายเหมาะสมกับวิธีการรักษานี้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจ ควรทราบข้อมูลเหล่านี้

  1. องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration = FDA) ได้เริ่มอนุมัติให้มีการใช้ประสาทหูเทียมมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2523 เพื่อรักษาการได้ยินในผู้ใหญ่ และได้อนุมัติให้ใช้ประสาทหูเทียมในเด็กอายุตั้งแต่ 12 เดือน ในปี พ.ศ.2543
  2. การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะและมีค่าใช้จ่ายสูง
  3. นอกจากขั้นตอนของการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงแล้ว หลังการผ่าตัดยังต้องมีกระบวนการเรียนรู้การแปลงสัญญาณเสียงซึ่งต้องใช้เวลาและการฝึกฝนโดยนักแก้ไขการพูดและภาษา และนักโสตสัมผัสวิทยา
  4. การใส่ประสาทหูเทียม อาจช่วยให้การได้ยินเสียงใกล้เคียงกับระดับปกติ เข้าใจคำพูดได้โดยไม่ต้องอาศัยการอ่านริมฝีปาก ทำให้ง่ายต่อการโทรศัพท์และฟังเสียงโทรทัศน์ สามารถจับเสียงต่างชนิดได้ เช่น เสียงที่ค่อย เสียงปานกลาง และเสียงที่ดัง และช่วยให้สามารถควบคุมเสียงพูดของตัวเองเพื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ผลที่ได้รับจากการผ่าตัดในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน
  5. การใส่ประสาทหูเทียม อาจมีความเสี่ยงทำให้เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ ทำให้การรับรู้รสเปลี่ยนไป เส้นประสาทถูกทำลายทำให้กล้ามเนื้อที่หน้าอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตที่หน้า เวียนศีรษะหรือมีปัญหาเรื่องการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน มีเสียงในหู (Tinnitus) มีการรั่วของของเหลวบริเวณสมอง เครื่องไม่ทำงานหรือเกิดการติดเชื้อ ทำให้ต้องมีการผ่าตัดใหม่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือมีการติดเชื้อของเยื่อบุผิว (Membranes) บริเวณสมอง
  6. การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมตั้งแต่อายุยังน้อยมักได้ผลที่ดีกว่าการผ่าตัดในผู้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้พัฒนาการทางด้านภาษาเป็นไปในทิศทางบวก
  7. เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เรื่องบทสนทนาหรือมีพัฒนาการทางภาษามาก่อน จะสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าเมื่อรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้ว
  8. ผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินโดยสมบูรณ์เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ได้รับประโยชน์จากประสาทหูเทียมไม่เต็มประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าแม้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจะช่วยให้ผู้ที่สูญเสียการได้ยินขั้นรุนแรง (หูหนวก) กลับมาได้ยินเหมือนกับคนทั่วไปได้ แต่ก็ยังมีข้อที่ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจมากมาย ทั้งความพร้อมในเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ความพร้อมในเรื่องของเวลาที่จะต้องเข้ารับการฝึกฟังและพูดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเองด้วย แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดในผู้ที่มีอายุน้อย มีความพร้อมในการได้รับการฝึกฟังและพูดหลังการผ่าตัด และผู้ที่เคยมีภาษาพูดมาก่อนแล้ว จะทำให้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเกิดประโยชน์สูงสุดได้

Buy now