“นิ่วในถุงน้ำดี” อันตรายที่คาดไม่ถึง

ป่วยบ่อย ป่วยง่าย ร่างกายไม่แข็งแรง “เวชศาสตร์ชะลอวัย” (อาจ) มีคำตอบ
September 9, 2020
“เครื่องสำอางสำหรับผู้สูงอายุ” ใครว่าไม่สำคัญ?
September 18, 2020

 “นิ่วในถุงน้ำดี อันตรายที่คาดไม่ถึง

 

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นก่อน ซึ่งการหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ถือเป็นการเฝ้าระวังและเป็นการดูแลรักษาสุขภาพอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับโรค นิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งถ้าเราสังเกตตัวเองและทราบถึงความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการอย่างทันท่วงที ก่อนที่นิ่วก้อนเล็กๆจะอุดตัน ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ปกติแล้วน้ำดีสร้างจากตับแล้วไหลมาเก็บที่ถุงน้ำดี โดยถุงน้ำดีจะทำหน้าที่ในการทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นสูงขึ้น ในหนึ่งวันน้ำดีจะถูกสร้างจากตับประมาณ 1 ลิตร จากนั้นถุงน้ำดีจะทำให้เกิดความเข้มข้นจนเหลือปริมาณเพียง 100 ซีซี เมื่อมีความเข้มข้นสูงขึ้นก็มักจะมีการตกตะกอน หรือบางครั้งมีแคลเซียมเข้าไปจับด้วย จึงทำให้ตกผลึกเป็นก้อนหินขึ้นมา ดังนั้นนิ่วในถุงน้ำดี ก็คือ ก้อนหินที่อยู่ในถุงน้ำดี นั่นเอง

เราไม่สามารถบอกได้ล่วงหน้าว่าใครจะมีนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ มีการใช้งานร่างกายที่มากขึ้น การตกตะกอนก็จะมากขึ้น เราจะพบนิ่วในถุงน้ำดีในผู้ที่มีอายุมาก ส่วนใหญ่จะมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป โดยพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ปัจจุบันนิ่วในถุงน้ำดีเริ่มพบได้มากขึ้นในผู้ที่อายุยังน้อย อายุระหว่าง 20 – 30 ปี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย จะพบว่า เป็นนิ่วในถุงน้ำดีตั้งแต่อายุประมาณ 17 – 18 ปี เพราะผู้ป่วยมีการทำลายเม็ดเลือดแดงจากม้าม ซึ่งเม็ดเลือดแดงผิดปกติ พอทำลายเม็ดเลือดแดงแตกก็จะเกิดบิลิรูบินขึ้น เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกบ่อยๆ จะมีบิลิรูบินสูง บิลิรูบินก็จะสามารถตกตะกอนในถุงน้ำดีได้ ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย

 

อาการอย่างไรให้สงสัยว่าเป็น “นิ่วในถุงน้ำดี”

80% ของผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการ บางคนไม่ได้มีการตรวจเช็ค ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งข้อดีของผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็คือ (อาจ) ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกประมาณ 20% มีอาการ เช่น จุกเสียดหลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทมันๆ หรือทำให้เป็นลม อาเจียน เหงื่อแตกได้ ถ้าเป็นมากขึ้น ถุงน้ำดีมีการอักเสบ ก็จะมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

 

การตรวจวินิจฉัย “นิ่วในถุงน้ำดี

การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีในปัจจุบันก็คือ การทำอัลตร้าซาวด์ ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์สามารถทำให้เห็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ประมาณ 90 – 95% ถ้าเทียบกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วจะเจอแค่ประมาณ 10 – 20% เท่านั้น เพราะฉะนั้นการตรวจแบบอัลตร้าซาวด์จึงดีกว่า…ขณะเดียวกันในผู้ป่วยบางรายซึ่งมีอาการค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แต่การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถทำให้เห็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ แพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่เรียกว่า MRCP (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography) แทนการอัลตร้าซาวด์ ซึ่งการตรวจด้วย MRCP นี้มีความแม่นยำในการบอกตำแหน่งที่มีการอุดตันทางเดินน้ำดี และสามารถพบตำแหน่งของนิ่วในทางเดินน้ำดีได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

 

 

MRCP ต่างกับ อัลตร้าซาวด์ อย่างไร?

อัลตร้าซาวด์เป็นการวินิจฉัยที่เป็นทางเลือกอันดับแรก เนื่องจากมีความแม่นยำ ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บปวด ไม่ต้องให้น้ำเกลือ ไม่ต้องฉีดยาใดๆ และค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูงมาก อัลตร้าซาวด์จึงถือเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยหลักก่อนวิธีอื่น ยกเว้นในกรณีที่ตรวจอัลตร้าซาวด์แล้วไม่สามารถหาสาเหตุของการปวดท้องได้ หรือผู้ป่วยในรายที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แล้วไม่สามารถตรวจพบได้จากการอัลตร้าซาวด์ การตรวจด้วย MRCP จะถูกเลือกใช้เป็นลำดับต่อไป ซึ่งวิธีนี้ให้ผลการตรวจแม่นยำและละเอียดมากกว่า สามารถตรวจได้แม้แต่ในผู้ป่วยที่มีลมหรือมีแก๊สในลำไส้มากๆ ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้

 

“นิ่วในถุงน้ำดี” กับวิธีการรักษา

ประเด็นเกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดี มักมีการถกเถียงกันมากว่าจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่อย่างไร หากไม่ผ่าตัดจะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงหรือไม่

เราพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ต้องมีการตรวจเช็คร่างกายเป็นระยะ หากไม่แสดงอาการเลย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ ตลอดชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันวิธีรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่ได้ผลก็คือการผ่าตัดเท่านั้น ส่วนยาสลายนิ่วให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ แพทย์ส่วนใหญ่จึงไม่แนะนำวิธีนี้ให้ผู้ป่วย

สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี คือ

  1. มีอาการปวดท้อง
  2. มีการอักเสบ
  3. ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย

“ถ้าเรารอให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องหรือมีการติดเชื้อ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน เรามักจะแนะนำให้ผ่าตัด ถึงแม้จะไม่มีอาการก็ตาม เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ส่วนผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีที่อายุน้อยและเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เรามักจะแนะนำให้ผ่าตัด ถึงแม้จะไม่มีอาการ เนื่องจากต่อไปผู้ป่วยต้องมีอายุยืนยาวอีก 40 – 50 ปี โอกาสที่มีการอักเสบจึงสูงกว่าผู้ป่วยที่มาตรวจเจอตอนอายุ 60 ปี ทั้งนี้ความรุนแรงของนิ่วในถุงน้ำดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหรือขนาด บางรายนิ่วมีขนาด 1 มิลลิเมตร แค่เม็ดเล็กๆ ก็อาจเสียชีวิตได้ ขณะที่บางคนนิ่วมีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร แต่กลับไม่มีอาการ นิ่วในถุงน้ำดีขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มันเข้าไปอุดตัน ถ้ามันวิ่งไปอุดตำแหน่งที่ตำแหน่งสำคัญก็อาจเกิดติดเชื้อในกระแสเลือดได้

 

ผลกระทบจากการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

เรารู้ว่าถุงน้ำดีเป็นที่เก็บของน้ำดีที่สร้างมาจากตับ  และทำหน้าที่ดูดซึมน้ำส่วนเกินจนทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นสูง เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีออกไป น้ำดีก็จะไม่มีที่กักเก็บ เมื่อตับสร้างน้ำดีออกมา มันก็จะไหลลงสู่ลำไส้ใหญ่อย่างรวดเร็ว ตับสร้างน้ำดีวันละ 1 ลิตร ก็จะไหลลงสู่ลำไส้ใหญ่วันละ 1 ลิตรเช่นกัน สิ่งที่ตามมา คือ ผู้ป่วยบางรายมีอาการท้องเสียง่าย แต่จะไม่มีอาการปวดท้องเหมือนท้องเสียทั่วไป ก่อนผ่าตัดจะถ่ายครั้งเดียว หลังผ่าตัดก็จะมี 4 – 5 ครั้ง โดยทั่วไปเมื่อ 5 – 6 เดือนแล้ว ผู้ป่วยก็มักจะกลับมาถ่ายได้ใกล้เคียงแบบเดิม คือถ่ายวันละ 1 – 2 ครั้ง อาการถ่ายบ่อยจะเป็นเพียงช่วงต้นๆ เท่านั้นที่น้ำดีมันไหลลงเอง แล้วลำไส้เรายังปรับตัวไม่ได้ แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยที่ผ่าตัดทุกคน บางรายก็ถ่ายเหมือนเดิม

นิ่วในถุงน้ำดี ป้องกันได้หรือไม่? 

ในเรื่องการป้องกันนั้น   โดยหลักการแล้วนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีป้องกัน ใครๆก็สามารถเป็นได้ นิ่วในถุงน้ำดีเป็นเหมือนโรคความเสื่อมที่ใช้ไปนานๆ แล้วก็มีการตกตะกอน จึงเป็นการสะสมขึ้นมา ยิ่งมีอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเกิดนิ่วในถุงน้ำดีก็มีสูงขึ้น โดยทั่วไปกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนอื่น คือ คนอ้วน, ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน เนื่องจากถุงน้ำดีมีการตกค้าง ทำให้ถุงน้ำดีทำงานได้ไม่เป็นปกตินั่นเอง

 

ถ้าให้มองในมุมมองที่ง่ายขึ้นก็คือ น้ำดีถูกสร้างจากตับมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี เวลาเรากินอาหารประเภทมันๆ เข้าไปในร่างกาย น้ำดีก็จะถูกขับออกมาเพื่อช่วยย่อยไขมัน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปแล้ว ก็ควรลดอาหารจำพวกมันๆ ให้น้อยลง ควรเน้นกินปลา กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอายุ 40 – 60 ปีขึ้นไป จึงควรลดอาหารประเภทมันๆ

 

แม้ว่านิ่วในถุงน้ำดีจะเป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้ก็ตาม แต่การปรับตัวในการกินอาหารทุกคนสามารถปรับได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยก่อน แต่เพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันโรคและปัญหาสุขภาพในหลายๆ ด้านได้อีกด้วย

 

https://www.healthchannel.co.th/

https://www.facebook.com/Globalhealthchannel

 

 

 

 

Buy now