ความดันโลหิตสูงคุมได้หากเลือกใช้สมุนไพรถูกต้อง

 “โกโก้” มีดีมากกว่าที่คิด
June 6, 2022
ภาชนะใส่อาหารที่ใส่ใจ “ผู้สูงอายุ”
June 6, 2022

อีกหนึ่งโรคที่ฮิตตลอดกาลไม่แพ้โรคเบาหวาน นั่นก็คือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคที่อาศัยการทำงานของร่างกาย 2 ส่วน คือ หัวใจและหลอดเลือด โดยภาวะความดันโลหิตสูงผู้ป่วยจะมีอาการปวดมึนท้ายทอย, ตึงต้นคอ และเวียนศีรษะ ในทางแพทย์แผนไทยจะเรียกว่า ภาวะลมตีขึ้นบนกำเริบ เกิดจากกำเดาอุ่นกายกำเริบ จึงทำให้ลมตีขึ้นบน พาเลือดให้ขึ้นบนตามไปด้วย จึงทำให้เกิดอาการปวดตุบๆ บริเวณศีรษะ หนักศีรษะ หายใจเหนื่อยหอบ และอ่อนเพลีย

ในทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ว่าสาเหตุและปัจจัยนั้นมาจาก

  1. กรรมพันธุ์ (ชาติสัมพันธ์ตระกูล)
  2. ธาตุเจ้าเรือน ซึ่งมักพบว่าผู้ป่วยจะมีธาตุไฟเป็นธาตุเจ้าเรือน
  3. อายุสมุฏฐาน โดยพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป มักมีอาการของลมตีขึ้นกำเริบ
  4. อารมณ์ หากมีความวิตกกังวลก็จะทำให้อาการเหล่านี้กำเริบได้เช่นกัน

สมุนไพรที่มักนำมาใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงมีอยู่หลายชนิด ทั้งสมุนไพรที่มีรสจืด (เย็น) ที่สามารถช่วยลดภาวะความร้อนที่กำเริบได้ หรือจะเป็นสมุนไพรรสเปรี้ยว ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกันกับภาวะไขมันในเลือดสูง

 

มีสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถนำมาช่วยลดความดันได้ดี คือ

  1. กระเทียม ช่วยให้การเต้นของหัวใจช้าลง และเพิ่มการบีบและคลายตัวของหัวใจ ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้ปัสสาวะมากขึ้น และในบางคลินิกได้ผลดีมากสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดแข็งตัว โดยรับประทานกระเทียมสด 5 – 7 กลีบต่อวัน แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะจะทำให้เลือดแข็งตัวช้า รวมถึงต้องระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin, ยาลดความดันโลหิต และยาลดน้ำตาลในเลือด เป็นต้น น็
  2. กระเพรา มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เนื่องจากสามารถขยายหลอดเลือดส่วนปลาย และเชื่อว่ามีคุณสมบัติยับยั้งการเกาะกันของเกล็ดเลือด เพิ่มระยะเวลาแข็งตัวของเลือดได้อีกด้วย วิธีใช้ คือนำส่วนของใบสดมา 1 กำมือ(น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม) หรือใบแห้ง 4 กรัม ต้มให้เดือด กรองเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มวันละ 250 มิลลิลิตร หลังอาหาร 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น
  3. กระเจี๊ยบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะแต่จะช่วยคงเกลือแร่ไว้ไม่ให้ถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ซึ่งสามารถช่วยลดความดันโลหิต โดยใช้ส่วนของดอกกระเจี๊ยบ ต้มและเคี่ยวจนน้ำเป็นสีแดงข้น กรองเอาดอกกระเจี๊ยบออกและสามารถเติมน้ำตาลและเกลือลงไปได้เล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ในบางรายอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ เช่น ปวดมวนท้อง หรือท้องเสีย นั่นเพราะกระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย แต่มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง

                นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรพื้นบ้านอีกหลายชนิด เช่นใบบัวบก, ตะไคร้ และคื่นฉ่าย ที่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้

 

ประเทศไทยเรามีสมุนไพรหลากหลายชนิดเพราะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ อากาศ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชสมุนไพร ที่ได้มีพัฒนาการวิจัยสมุนไพรให้เพิ่มมากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรในบ้านเราตอนนี้ก็เริ่มมีมากขึ้น และสามารถใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วย ซึ่งในต่างประเทศก็มีการวิจัยอยู่บ้าง แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีงานวิจัยสมุนไพรที่แตกต่างกันออกไป  ในตำรายาโบราณของประเทศเราได้มีการนำสมุนไพรเหล่านี้มาใช้ในการรักษาโรคมานานแล้ว สมุนไพรจึงเป็นสิ่งที่เราควรรักษาไว้ให้คู่กับคนไทยต่อไป

 

หากมองในมุมของผู้บริโภค จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ผลจากการจัดงานเกี่ยวกับสมุนไพรอย่างต่อเนื่องกันมาทุกปี ทำให้ตอนนี้คนเริ่มหันมาใช้สมุนไพรกันมากขึ้น ในรูปแบบการใช้ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ยา อาหารเสริม และในอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เพราะรูปแบบของสมุนไพรถูกพัฒนาให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแคปซูลที่สามารถรับประทานได้เลย หรือจะเป็นแบบอบแห้งที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการต้ม เคี่ยว หรือนึ่งก่อน อีกทั้งประชาชนเริ่มเข้าถึงข้อมูลของสมุนไพรมากขึ้น ทั้งจากงานวิจัย หรือได้รับข้อมูลจากแพทย์แผนไทยและเภสัชกร

แต่ขณะเดียวกัน ในบางอาการหรือบางโรคการใช้สมุนไพรเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด แต่ควรได้รับคำแนะนำหรือได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันไปพร้อมๆ กันด้วย ถ้าเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น เจ็บคอ ไอ ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ ท้องอืดท้องเฟ้อ ฯลฯ อาการเหล่านี้ ขอให้นึกถึงสมุนไพรก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น จึงควรไปพบแพทย์

คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราคนไทยต้องหันกลับมาสนใจกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องสมุนไพรและภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการรักษาโรคที่เราเองก็มีอยู่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องได้รับการพัฒนาไปให้ถูกทาง เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้มากยิ่งขึ้น

 

Buy now