“กินเค็ม” เสี่ยงมะเร็งหลังโพรงจมูก (จริงดิ!!!)

ดูแลกายใจ… ให้ห่างไกลโรคซึมเศร้า
July 3, 2022
ใช้เสียงมากไปหรือใช้ผิดวิธี…เสี่ยงกล่องเสียงอักเสบ
July 16, 2022

“กินเค็ม” เสี่ยงมะเร็งหลังโพรงจมูก (จริงดิ!!!)

 

                การรับประทานอาหารรสเค็มนอกจากจะเป็นต้นเหตุให้ไตทำงานหนักและอาจนำไปสู่โรคไตแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกด้วยหรือ? คำถามนี้คงชวนให้ผู้ที่ติดรสชาติเค็มตกใจอยู่ไม่น้อย..กินเค็มแล้วเป็นมะเร็งได้อย่างไร เค็มมากขนาดไหนถึงเรียกว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก สู้มะเร็งฉบับนี้มีคำตอบ

“โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก” เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ซ่อนเร้นของร่างกาย ทำให้ยากแก่การสังเกตและการตรวจพบ คำว่า “บริเวณส่วนหลังโพรงจมูก” (Nasopharynx) เป็นบริเวณโพรงอากาศที่อยู่ถัดจากโพรงจมูกเข้าไปด้านใน เป็นตำแหน่งที่เชื่อมต่อระหว่างโพรงจมูกกับช่องคอหอยหรือช่องคอ จึงได้ชื่อว่าโพรงหลังจมูก ซึ่งส่วนที่มักเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งในบริเวณนี้คือส่วนของ เนื้อเยื่อที่บุโดยรอบของโพรงอากาศ นั่นเอง

ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเฉพาะเจาะจงที่บ่งบอกถึงโรคนี้อย่างชัดเจน  ทำให้โอกาสที่จะตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเป็นไปได้น้อย และทำให้เป็นปัญหาในการรักษาให้หายขาด

อาการที่มักพบได้บ่อยของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกนี้ ได้แก่ อาการหูอื้อเรื้อรัง อาการของโรคหวัดเรื้อรัง หรือโรคภูมิแพ้เรื้อรัง คัดจมูกข้างเดิมบ่อยๆ มีเลือดกำเดาออกบ่อยๆ ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต อาจเพียงต่อมเดียวหรือหลายต่อม มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง มองเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ ใบหน้าชา ซึ่งมักพบได้เมื่อโรคลุกลามเข้าเส้นประสาทสมองหรือเข้าสมอง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว หรือมีอาการทั้งสองข้างก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งและพยาธิสภาพของตัวโรค

สาเหตุของการเกิดโรค

  1. ปัจจัยด้านเชื้อชาติและพันธุกรรม จากสถิติของผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดนี้ทั่วโลกพบได้บ่อยในคนเอเชีย โดยเฉพาะประชากรชาวจีน (สูงกว่าคนทั่วโลกประมาณ 25 เท่า) ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนในประเทศไทย มะเร็งชนิดนี้พบได้ในผู้หญิงไทยประมาณ 1.6 แสนคนต่อปี และในผู้ชายไทยประมาณ 4.5 แสนคนต่อปี ส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน (44 – 55 ปี)
  2. ปัจจัยด้านการติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) เป็นเชื้อที่อยู่ในกลุ่มของ Herpes virus ซึ่งมีแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกส่วนมากมีประวัติการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
  3. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ การได้รับสารพิษในอากาศเป็นประจำ การสูดดมควันบางชนิดเป็นเวลาต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อสารเหล่านี้เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูกเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิวในบริเวณนั้นจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
  4. ปัจจัยด้านอาหารการกิน อาหารบางชนิด เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เต้าเจี้ยว ซึ่งเป็นอาหารประจำของชาวจีนตอนใต้ ที่พบว่ามีการเกิดโรคนี้สูงตามข้อมูลที่ให้ไว้ในเบื้องต้น

กินเค็ม..เสี่ยงเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก?

มีความเป็นไปได้มาก หากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากมีการตรวจพบสาร “ไนโตรซามีน” (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ในปลาเค็ม และเจ้าสารไนโตรซามีนตัวนี้ยังพบได้ในอาหารอื่นๆอีกหลายชนิด โดยเฉพาะในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน ไม่ใช่เพียงเฉพาะในปลาเค็มอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้เราจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทดังกล่าว

ส่วนการรับประทานอาหารรสเค็มโดยทั่วไป ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงของการก่อให้เกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ดีการรับประทานรสเค็มเป็นประจำก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตวายเรื้อรัง

 

Buy now