อาหารที่อาจปนเปื้อนสารพิษ
January 11, 2022
วัคซีนไอกรน จำเป็นแค่ไหน?
January 13, 2022

Furniture Design เพื่อผู้ป่วย

ชุดเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ประกอบด้วย Left Chair เก้าอี้ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานได้ทั้งสำหรับคนทั่วไปและสำหรับผู้สูงอายุ โดยหลักการแล้วการนั่งของผู้สูงอายุนั้นต้องมีคนช่วยพยุง ฉะนั้นเมื่อออกแบบให้มีแขนด้านเดียวจึงทำให้การเข้าออกนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น สะดวกต่อคนช่วยพยุงลุก – นั่ง, Partition เพราะการจัดพื้นที่ให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุนั้น สิ่งที่สำคัญนั้นก็คือการสร้างบรรยากาศไม่ให้รู้สึกว่าอยู่โรงพยาบาล การนำเอาฉากมาบังสายตาของคนที่อยู่บนเตียง ไม่ให้เห็นเครื่องไม้เครื่องมือแพทย์จึงช่วยลดความรู้สึกเครียดลงได้ และ Rocking Stool เก้าอี้ทรงสูง ที่ใส่ใจถึงคนเฝ้าไข้หรือญาติที่มาเยี่ยม ความสูงนั้นเป็นระดับเดียวกับเตียงซึ่งทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดี ทั้งยังมีการออกแบบให้เป็นเก้าอี้ที่มีลักษณะโยก ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

เก้าอี้สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ในร่างกายของคนเรามีจุดกระตุ้นประสาทอยู่ที่ปลายนิ้ว ไม่ว่าปลายนิ้วมือหรือปลายนิ้วเท้า เช่นนั้นแล้วจึงมีการติดปุ่มตรงที่พักแขนบริเวณมือจับ เวลานั่งพักก็ยังกระตุ้นเส้นประสาทได้ไปในตัวเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้สูงวัยเหล่านี้ เป็นผลจากการคิดออกแบบและพัฒนาโดยฝีมือดีไซน์เนอร์คนไทย เป็นเรื่องที่น่าดีใจอยู่ไม่น้อย เพราะประเทศไทยเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า การเอื้อประโยชน์เพื่อให้คุณตาคุณยายใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวก อย่างข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจะเล็กจะใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย จะทำอย่างไรให้คนสูงวัยเกิดความสะดวกสบายสูงสุดในการใช้ชีวิตบั้นปลาย

“ผู้สูงอายุคือคนหนึ่งที่มีสภาพร่างกายเหมือนเรา แต่ว่าร่างกายมีความเสื่อมสภาพลงไป จึงมีความแตกต่างเกิดขึ้น เขาต้องการสิ่งที่ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เพียงพอ การพัฒนาสินค้าไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์คนแก่ เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่คนแก่ไม่ชอบคือความรู้สึกบั้นปลายของชีวิต มันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่คนทำเฟอร์นิเจอร์ต้องใส่ใจลงไปคือ ทำลุคไม่ให้เหมือนเครื่องใช้สำหรับคนป่วย เพราะคนสูงอายุอยู่ได้ด้วยสองอย่าง คือร่างกายและจิตใจ อย่าไปทำให้รู้สึกว่าฉันแก่ แล้วต้องอยู่รอวันตาย ฉะนั้นต้องหากิจกรรมให้ทำได้ในตัวด้วย”

“คอนเซ็ปต์ของเฟอร์นิเจอร์จึงเป็น Wellness สวยอย่างมีคุณค่า ทำให้เห็นว่าความดีสู้ความสวยได้ หลายคนเห็นเก้าอี้แล้วบอกว่าดีจังเลย อยากซื้อให้พ่อแม่เป็นของขวัญ เพราะมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี อย่างเก้าอี้สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ถามว่ามันจะช่วยให้หายจากการเป็นพาร์กินสันได้ไหม ในฐานะเก้าอี้หนึ่งตัวมันออกแบบมาเพื่อช่วยบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้น นั่งอยู่มันช่วยกระตุ้นให้คนดีขึ้นได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนแก่มีความสุข”

ทิศทางการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ คือ การพัฒนาสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการพัฒนาและปรับตัว เพราะเป็นการออกแบบเพื่อช่วยเหลือ แต่อนาคตประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของกลุ่มนี้ได้ ในวงการดีไซน์ระดับโลก อะไรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุยังไม่มีผู้ครองตลาด ประเทศไทยมีความสามารถที่จะครองแชมป์ได้ เพราะเป็นเรื่อง Wellness ที่ไทยเราเด่นเรื่องบริการด้านสุขภาพด้วยความใส่ใจอยู่แล้วเป็นทุน

 

แม้ว่าปัจจุบันนี้บ้านเรายังมีตัวเลือกสำหรับเฟอร์นิเจอร์กลุ่มผู้สูงวัยอยู่ไม่มากเท่าที่ควร แต่ช่องว่างตรงนี้เองที่ควรจะเร่งมือพัฒนางานเพื่อรองรับในอนาคตอันใกล้ ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดสูงสุดคงไม่พ้นความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยนั่นเอง

 

Buy now